backup og meta

ยาสอดช่องคลอดกี่ชั่วโมงละลาย และคำแนะนำในการใช้

ยาสอดช่องคลอดกี่ชั่วโมงละลาย และคำแนะนำในการใช้

ยาสอดช่องคลอด เป็นยาเม็ดรูปไข่หรือวงรีขนาดเล็กสำหรับสอดหรือเหน็บช่องคลอดเพื่อรักษาอาการช่องคลอดแห้งหรือการติดเชื้อในช่องคลอด สาว ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ยาสอดช่องคลอดกี่ชั่วโมงละลาย ? ตามปกติ ยาสอดช่องคลอดมักละลายภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หรือราว ๆ 10-15 นาที ทั้งนี้ หากมีประจำเดือนอยู่ ก็สามารถใช้ยาสอดช่องคลอดได้ แต่ไม่ควรใช้พร้อมกับผ้าอนามัยแบบสอด เพราะผ้าอนามัยจะดูดซับตัวยาบางส่วนไว้ ทำให้ยาสอดออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

[embed-health-tool-ovulation]

ยาสอดช่องคลอด คืออะไร

ยาสอดช่องคลอด หรือบางครั้งเรียกว่ายาเหน็บช่องคลอด เป็นยาเม็ดรูปทรงวงรีคล้ายไข่หรือกระสุนปืนขนาดเล็กที่เคลือบด้วยไขมันจากเมล็ดโกโก้หรือเจลาติน มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ใช้สำหรับสอดหรือเหน็บช่องคลอด โดยตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายหลังสารเคลือบตัวยาละลายแล้ว ใช้เพื่อรักษาความผิดปกติต่าง ๆ ของช่องคลอด ดังนี้

  • ช่องคลอดแห้ง เป็นอาการที่พบได้ในผู้หญิงวัยทอง เนื่องจากฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ลดลง โดยตัวยาในรูปแบบยาสอดที่นิยมใช้แก้ปัญหาช่องคลอดแห้ง ได้แก่ ปราสเตอโรน (Prasterone) ซึ่งมีคุณสมบัติแปรสภาพเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้นยิ่งขึ้น
  • การติดเชื้อราในช่องคลอด เกิดจากความเป็นกรดด่างในช่องคลอดไม่สมดุล ส่งผลให้เชื้อราเพิ่มจำนวนและทำให้เกิดการติดเชื้อรา โดยตัวยาที่ใช้รักษาความผิดปกตินี้ คือ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ขนาด 100 หรือ 500 มิลลิกรัม โดยโคลไตรมาโซล 100 มิลลิกรัมใช้สำหรับสอดช่องคลอดต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ส่วนโคลไตรมาโซล 500 มิลลิกรัมจะใช้สำหรับสอดเป็นระยะเวลาหนึ่งวันเท่านั้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด เกิดจากการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียในช่องคลอดอย่างผิดปกติ เนื่องจากปริมาณแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่มีหน้าที่รักษาสมดุลแบคทีเรียอื่น ๆ มีจำนวนลดลง ทั้งนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอาจรักษาได้ด้วยการสอดยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือไมโคนาโซล (Miconazole Nitrate) 1 ครั้ง ก่อนนอน

ยาสอดช่องคลอดกี่ชั่วโมงละลาย

โดยเฉลี่ยแล้ว หลังสอดหรือเหน็บเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอด สารเคลือบยาสอดจะละลายภายใน 10-15 นาที แต่ในบางกรณีอาจใช้เวลานานถึง 30 นาที

โดยปกติ อุณหภูมิของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ประมาณ  36-37 องศาเซลเซียส แต่สารที่ใช้สำหรับเคลือบตัวยาอย่างไขมันจากเมล็ดโกโก้และเจลาติน จะละลายที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ดังนี้

  • ไขมันจากเมล็ดโกโก้จะละลายที่ระดับอุณหภูมิประมาณ 30-36 องศาเซลเซียส
  • เจลาตินจะละลายที่ระดับอุณหภูมิประมาณ 31-34 องศาเซลเซียส

คำแนะนำในการใช้ยาสอดช่องคลอด

ยาสอดช่องคลอด ควรใช้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • การจุ่มยาสอดในน้ำก่อนเหน็บหรือสอดเข้าไปในช่องคลอด จะช่วยให้สอดยาเข้าช่องคลอดได้ง่ายขึ้น หลังสอดยาแล้วควรนอนนิ่ง ๆ สักพักเพื่อให้ยาซึมเข้าสู่ร่างกาย
  • ยาสอดช่องคลอด ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันยาสอดละลาย
  • ยาสอดช่องคลอด สามารถใช้ขณะมีประจำเดือนได้
  • เมื่อยาละลายแล้ว ยาสอดช่องคลอดอาจสามารถไหลออกจากช่องคลอดได้ ดังนั้น จึงควรใช้แผ่นรองอนามัย เพื่อป้องกันตัวยาสอดไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอน
  • ในขณะที่ใช้ยาสอด ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในเวลาเดียวกัน เพราะผ้าอนามัยแบบสอดจะดูดซึมตัวยาบางส่วนไว้ ทำให้ยาสอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Yeast infection (vaginal). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yeast-infection/symptoms-causes/syc-20378999#:~:text=A%20vaginal%20yeast%20infection%20is,some%20point%20in%20their%20lifetimes. Accessed September 14, 2022

Bacterial Vaginosis. https://www.webmd.com/women/what-is-bacterial-vaginosis. Accessed September 14, 2022

Suppositories. https://uomustansiriyah.edu.iq/media/lectures/4/4_2020_06_07!01_57_59_PM.pdf. Accessed September 14, 2022

Suppositories: What They Treat and How to Use Them. https://www.webmd.com/digestive-disorders/suppositories-how-to-use. Accessed September 14, 2022

Antifungal, Azole (Vaginal Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/antifungal-azole-vaginal-route/proper-use/drg-20069654. Accessed September 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

มีเมือกใส ๆ ออกมาจากช่องคลอด คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด

ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น วิธีแก้มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา