backup og meta

เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

    เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง เป็นภาวะที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนมากเกินไปของเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ภายในร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่น ปาก ลำคอ ลำไส้ และช่องคลอด ทำให้ความเป็นกรด-เบสตามธรรมชาติในช่องคลอดเสียสมดุล ทำให้เกิดการติดเชื้อ เป็น ๆ หาย ๆ จนเรื้อรัง โดยอาจสังเกตจากอาการคันช่องคลอด ตกขาว และผื่นบริเวณช่องคลอด

    เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง คืออะไร

    เชื้อราในช่องคลอดเรื้อรัง คือ การติดเชื้อราในช่องคลอดที่อาจเป็นยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ หรืออาจติดเชื้อซ้ำ ๆ ตั้งแต่ 3 ครั้ง/ปี ขึ้นไป เพราะปกติแล้วการติดเชื้อราในช่องคลอดในระดับไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 3-14 วัน โดยเกิดจากการเสียสมดุลของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacilli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียดีที่ช่วยควบคุมปริมาณของเชื้อที่เป็นอันตรายต่อช่องคลอด จนส่งผลให้เชื้อราแคนดิดาที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากเกินไป ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด

    สาเหตุของเชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง

    สาเหตุของเชื้อราในช่องคลอดเรื้อรัง มีดังนี้

    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากสภาวะบางอย่าง เช่น การติดเชื้อ HIV โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ มะเร็ง ที่อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตจนควบคุมได้ยาก
    • การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมน อาจทำให้เสียความสมดุลของแบคทีเรียดีในช่องคลอด
    • การรับประทานยาปฏิชีวนะ อาจลดปริมาณของแบคทีเรียดีในช่องคลอด
    • การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือวัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ความสมดุลภายในช่องคลอดเสีย และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอด หรือการสวนล้างช่องคลอด ที่อาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลได้
    • โรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นสูง และกระตุ้นการผลิตตกขาวในเยื่อบุช่องคลอด ทำให้เกิดความชื้นที่ทำให้เชื้อราในช่องคลอดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
    • การใช้ยากดภูมิต้านทานของร่างกายเป็นเวลานาน เช่น การใช้สเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)

    อาการเชื้อราในช่องคลอดเรื้อรัง

    อาการเชื้อราในช่องคลอดเรื้อรัง มีดังนี้

  • อาการคันและระคายเคืองในช่องคลอด หรือรอบช่องคลอด
  • ตกขาวหนา เป็นก้อน อาจจะลักษณะเหมือนแป้งเปียกหรือคล้ายตะกอนนม แต่อาจไม่มีกลิ่น
  • ช่องคลอดบวมแดง
  • มีผื่นที่ช่องคลอด
  • เจ็บปวดอวัยวะเพศขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีอาการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้มีอาการบางอย่างที่รุนแรงขึ้น เช่น อาการคัน ช่องคลอดบวมแดง แผลที่ช่องคลอด อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีอาการคันช่องคลอดอย่างรุนแรง หรือหากอาการต่าง ๆ ของการติดเชื้อราในช่องคลอดไม่บรรเทาลงหลังจากรักษาด้วยครีมและยาต้านเชื้อรา ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

    การรักษาเชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง

    วิธีการรักษาเชื้อราในช่องคลอดเรื้อรัง มีดังต่อไปนี้

    สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาดังนี้

  • ยาต้านเชื้อรา ที่มีในรูปแบบครีม ยาเม็ด ยาเหน็บ ขี้ผึ้ง เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยทาหรือเหน็บช่องคลอดเป็นเวลา 3-7 วัน หรือขึ้นอยู่กับคำแนะนำของคุณหมอ
  • ยารับประทานเพียงครั้งเดียว คุณหมออาจให้รับประทานยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่อาจช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยให้รับประทาน 150 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อบ่อยครั้ง คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีดังนี้

    • ยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน โดยให้รับประทานยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ทุก 3 วัน ทั้งหมด 3 โดส และรับประทานต่อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน การใช้ยาในรูปแบบนี้ไม่แนะนำสำหรับสตรีตั้งครรภ์ หรืออาจเปลี่ยนเป็นการใช้ยาในรูปแบบอื่นแทนตามที่คุณหมอกำหนด เช่น ยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม ยาเหน็บในช่องคลอด
    • ยาต้านเชื้อราในระยะยาว คุณหมออาจให้ใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีมทาต่อเนื่องนาน 7-14 วัน ยาเหน็บช่องคลอด Clotrimazole vaginal tablet ขนาด 100 มิลลิกรัม ใช้เหน็บช่องคลอดทุกวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และลดเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน หรือ 500 มิลลิกรัม เหน็บช่องคลอดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 6 เดือน เพื่อป้องกันการดื้อยา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา