backup og meta

รีแพร์ คือ อะไร และควรดูแลตัวเองย่างไรหลังทำรีแพร์

รีแพร์ คือ อะไร และควรดูแลตัวเองย่างไรหลังทำรีแพร์

รีแพร์ คือ การผ่าตัดช่องคลอด แคม และปากช่องคลอด เพื่อตกแต่งและปรับปรุงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดให้กระชับขึ้น และหลังจากทำรีแพร์ควรดูแลสุขภาพช่องคลอดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำรีแพร์อาจไม่อยู่ถาวร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานและปัจจัยบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย ยกของหนัก คลอดบุตร เล่นกีฬา ไอเรื้อรัง

[embed-health-tool-bmi]

รีแพร์ คือ อะไร

รีแพร์ คือ การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม ปรับปรุงและตกแต่งกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อและผิวหนังที่หย่อนยานบริเวณช่องคลอด แคม และปากช่องคลอดให้กระชับมากขึ้น มีขนาดช่องคลอดที่เล็กลง ช่วยรักษาการหดรัดตัวของช่องคลอดให้ดีขึ้น และอาจช่วยปรับลักษณะบริเวณปากช่องคลอดให้ดูดีขึ้นอีกด้วย

ผู้ที่ควรทำรีแพร์

การทำรีแพร์อาจเหมาะกับผู้ที่มีปัจจัยที่ทำให้ช่องคลอดหลวม ไม่กระชับ หรือมีภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนคล้อย หรือมีปัญหาเรื่องไอจามปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย มีปัญหาไม่กระชับเวลามีเพศสัมพันธ์ ดังนี้

  • ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย และเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่คลอดบุตรทางช่องคลอด ผู้ที่คลอดบุตรทางช่องคลอดหลายคน หรือผู้ที่คลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ทางช่องคลอด
  • ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวบางชนิด เช่น จามอย่างรุนแรง ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงที่ช่องคลอดจะไม่กระชับ
  • ผู้ที่มีกิจกรรมหรือการทำงานที่ต้องเกร็งท้องจนทำให้เกิดแรงดันบริเวณช่องคลอดเป็นประจำ เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก ผู้ที่ทำงานที่ต้องยกของหนัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากการทำรีแพร์ก็ยังอาจมีโอกาสที่ช่องคลอดจะกลับมาหย่อนคล้อยได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานและปัจจัยบางประการ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การคลอดบุตร การไอเรื้อรัง ท้องผูก การยกของหนัก

ภาวะแทรกซ้อนของรีแพร์ คือ

ภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่เกิดจากการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำรีแพร์ มีดังนี้

  • เลือดออกมากหลังจากการผ่าตัดทางช่องคลอด
  • การติดเชื้อที่แผลหลังการผ่าตัด
  • การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะมีเลือดปน
  • อาการท้องผูก
  • เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะอาจเกิดความเสียหายระหว่างการผ่าตัด
  • อาการปัสสาวะเล็ดเนื่องจากภาวะท่อปัสสาวะหลุดออก ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายบริเวณอุ้งเชิงกราน

การปฏิบัติตัวหลังจากรีแพร์

ในช่วงแรกหลังจากการผ่าตัดทำรีแพร์ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดแรงดันหรือการกดทับบริเวณแผล เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายอย่างหนัก การยกน้ำหนัก การเล่นกีฬา การไอและจามอย่างรุนแรง อาการท้องผูก สำหรับบาดแผลและอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการผ่าตัดจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 เดือน

ดังนั้น ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรีแพร์จึงควรหยุดงานอย่างน้อย 2-6 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้แผลหายช้า และควรรออย่างน้อย 5-6 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนอาจต้องใช้สารหล่อลื่นร่วมด้วย เพื่อช่วยให้การสอดใส่ง่ายขึ้นและลดอาการเจ็บปวด

วิธีการดูแลตัวเองหลังทำรีแพร์

การดูแลตัวเองหลังทำรีแพร์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้แผลผ่าตัดดีขึ้นอาจทำได้ ดังนี้

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่าหรือผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนสำหรับจุดซ่อนเร้นเป็นประจำทุกวัน เช้าและเย็น รวมทั้งหลังเข้าห้องทุกครั้ง
  • ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน ด้วยการฝึกขมิบช่องคลอดอย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง เพื่อช่วยกระชับช่องคลอด
  • พักฟื้นหลังจากการผ่าตัดให้เหมาะสมตามคำแนะนำของคุณหมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก แบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง ไอและจามอย่างรุนแรง
  • งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 5-6 สัปดาห์
  • งดออกกำลังกายและเล่นกีฬาหนัก ๆ อย่างน้อย 1 เดือน
  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดการสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้แผลหายช้า
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อตรวจแผลผ่าตัด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

FEMALE GENITAL TRACT SURGERY. https://www.bapras.org.uk/public/patient-information/surgery-guides/female-genital-tract-surgery. Accessed December 13, 2022

Anterior Vaginal Repair. https://www.yourpelvicfloor.org/conditions/anterior-vaginal-repair/. Accessed December 13, 2022

Vaginoplasty and Labiaplasty. https://www.webmd.com/women/guide/vaginoplasty-and-labiaplasty-procedures. Accessed December 13, 2022

Anterior vaginal wall repair. https://medlineplus.gov/ency/article/003982.htm. Accessed December 13, 2022

Surgical Repair of the Genital Hiatus: A Narrative Review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33606054/. Accessed December 13, 2022

Anterior Vaginal Wall Repair without the use of mesh. https://www.nth.nhs.uk/content/uploads/2020/01/NATLEAFLET-Anterior-repair-BSUG-2018.pdf. Accessed December 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท่าเซ็กส์อันตราย ที่ควรระมัดระวังขณะมีเพศสัมพันธ์

เซ็กจัด สาเหตุ วิธีสังเกต และวิธีรับมือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา