backup og meta

ล้างจุดซ่อนเร้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    ล้างจุดซ่อนเร้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อควรทำอย่างไร

    ล้างจุดซ่อนเร้น เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิง โดยควรใช้น้ำอุ่นและสบู่ฤทธิ์อ่อนขณะล้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคือง นอกจากนี้ ระหว่างการทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ไม่ควรฉีดสวนล้างช่องคลอด หรือใช้นิ้วล้วงเข้าไปทำความสะอาดภายในช่องคลอด เพราะจะทำให้ปริมาณแบคทีเรียในช่องคลอดสูญเสียสมดุลตามธรรมชาติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

    คำแนะนำในการ ล้างจุดซ่อนเร้น

    การล้างจุดซ่อนเร้น เป็นวิธีรักษาสุขภาพของอวัยวะเพศหญิงและป้องกันการติดเชื้อ

    วิธีล้างจุดซ่อนเร้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ควรล้างจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และซับให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัวหรือกระดาษชำระที่เนื้อสัมผัสนุ่ม
    • หากต้องการใช้สบู่ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ควรเลือกสบู่ฤทธิ์อ่อนหรือไม่ผสมน้ำหอม เพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นซึ่งบอบบางเกิดการระคายเคือง นอกจากนี้ ควรระวังไม่ให้น้ำหรือสบู่เข้าไปในช่องคลอด เพราะอาจทำให้แบคทีเรียซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของช่องคลอดถูกทำลาย และเพิ่มความเสี่ยงให้ช่องคลอดติดเชื้อง่ายขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้ช่องคลอดสูญเสียสมดุลตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วช่องคลอดมีกลไกตามธรรมชาติในการทำความสะอาดตัวเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยการผลิตเมือกซึ่งช่วยในการขับเลือด คราบอสุจิ หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ออกนอกร่างกาย หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดภายนอกจุดซ่อนเร้น ไม่จำเป็นต้องล้างคราบอสุจิออกจากในช่องคลอด
    • ควรทำความสะอาดทวารหนักหลังจากล้างจุดซ่อนเร้น เพราะการทำความสะอาดทวารหนักก่อน ล้างจุดซ่อนเร้น อาจทำให้แบคทีเรียจากทวารหนักแพร่กระจายไปยังจุดซ่อนเร้นและนำไปสู่การติดเชื้อได้
    • การทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นขณะมีประจำเดือนนั้นใช้วิธีการเดียวกับช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีความกังวลเกี่ยวกับกลิ่นไม่พึงประสงค์ระหว่างมีประจำเดือน อาจเลือกล้างจุดซ่อนเร้นมากกว่าวันละ 1 ครั้ง

    การดูแลและรักษาสุขภาพจุดซ่อนเร้น วิธีอื่น

    นอกจากการ ล้างจุดซ่อนเร้น ควรดูแลและรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ใช้ถุงยางอนามัยสตรีเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือเลือกมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่สวมถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส เริม
    • ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากเชื้อโรคที่เข้าไปในเดินทางปัสสาวะระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • สวมกางเกงในผ้าฝ้าย เพราะระบายความชื้นได้ดี และช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อราบริเวณจุดซ่อนเร้นเนื่องจากความอับชื้น ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้ นอกจากนี้ กางเกงในผ้าฝ้ายยังให้สัมผัสที่นุ่มละมุน ต่างจากกางเกงในที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์อย่างไนลอนหรืออะซิเตท (Acetate) ที่อาจทำให้จุดซ่อนเร้นหรือผิวหนังรอบ ๆ ระคายเคืองระหว่างสวมใส่ได้ และการทำความสะอาดกางเกงในควรซักแล้วตากให้แห้งในที่มีลมพัดเพื่อให้แห้งสนิททุกครั้ง
    • ไม่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดนานเกินไป หรือมากกว่า 6 ชั่วโมง เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) ที่เกิดจากการหลั่งสารพิษของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้จุดซ่อนเร้นระคายเคือง เช่น แป้งฝุ่น สเปรย์ระงับกลิ่นจุดซ่อนเร้น น้ำมันหอม น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยเฉพาะแป้งฝุ่นนั้นทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่จึงห้ามใช้ในบริเวณนี้เด็ดขาด

    จุดซ่อนเร้นมีอาการอย่างไร ควรไปพบคุณหมอ

    หากบริเวณจุดซ่อนเร้นมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ ได้แก่

    • รู้สึกเจ็บบริเวณช่องคลอดเมื่อปัสสาวะ ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือขณะช่วยตัวเอง
    • ช่องคลอดหรือจุดซ่อนเร้นมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
    • บริเวณจุดซ่อนเร้นเป็นแผลพุพองหรือมีตุ่มใสขึ้น
    • มีสารคัดหลั่งสีเหลือง เขียว หรือเทา ไหลออกมาจากช่องคลอด
    • คันบริเวณช่องคลอดอย่างต่อเนื่อง
    • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา