backup og meta

อาการคันช่องคลอด สาเหตุ และวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    อาการคันช่องคลอด สาเหตุ และวิธีรักษา

    อาการคันช่องคลอด อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัยหมดประจำเดือนที่ส่งผลให้ช่องคลอดแห้งจนเกิดการระคายเคือง วิธีรักษาอาการคันในช่องคลอดอาจแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน หากสังเกตว่ามีอาการคันช่องคลอด ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ตกขาวผิดปกติ รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด มีดังนี้

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อปรสิต เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม (Chlamydia) ซิฟิลิส เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ เอดส์ โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas) ที่อาจส่งผลให้มีอาการระคายเคือง คันช่องคลอดหรือบริเวณรอบ ๆ ปากช่องคลอดได้
  • การติดเชื้อราในช่องคลอด เกิดขึ้นจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ภายในช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป ซึ่งมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง แสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวผิดปกติ
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • สารระคายเคือง เช่น สารหล่อลื่นบนถุงยางอนามัย ผงซักฟอก สบู่ กระดาษชำระที่มีน้ำหอมผ้าอนามัย หากสัมผัสกับบริเวณปากช่องคลอดอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและทำให้คันช่องคลอดได้
  • วัยหมดประจำเดือน ร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้เยื่อบุผนังช่องคลอดบางและแห้ง เนื่องจากขาดสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น นำไปสู่อาการคันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอด
  • โรคไลเคนสเคลโรซัส(Lichen sclerosus) เป็นโรคผิวหนังที่อาจพบได้ยาก อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดรอยสีขาวเป็นหย่อมขึ้นบนผิวหนัง ร่วมกับอาการคัน แสบ เป็นแผล และอาจมีเลือดออก พบในบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และลำตัวส่วนบน
  • วิธีรักษาอาการคันช่องคลอด

    วิธีรักษาอาการคันช่องคลอดอาจแบ่งออกตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน ดังนี้

    • การติดเชื้อรา อาจรักษาด้วยการทาครีมต้านเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเภสัชกรหรือคุณหมอก่อนใช้ยา
    • ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานและครีมทาบริเวณช่องคลอด เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) คลินดามัยซิน (Clindamycin) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการคันช่องคลอด
    • สารระคายเคือง อาจรักษาได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส แต่หากเกิดจากการติดเชื้อจากไวรัส เช่น โรคเริม เอชไอวี ก็อาจรักษาด้วยยาต้านไวรัส
    • วัยหมดประจำเดือน อาจรักษาด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ในรูปแบบครีมทาช่องคลอด ยาสอด หรือสารหล่อลื่น เพื่อบรรเทาอาการคันอวัยวะเพศและช่องคลอดอักเสบเนื่องจากช่องคลอดแห้ง
    • โรคไลเคนสเคลโรซัส คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอดอย่างรุนแรง

    วิธีป้องกันอาการคันช่องคลอด

    วิธีป้องกันอาการคันช่องคลอด อาจทำได้ดังนี้

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาด และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากน้ำหอม เช่น เจลอาบน้ำ สบู่ ครีม อีกทั้งไม่ควรแช่น้ำที่มีฟองสบู่นาน ๆ
  • หลังเข้าห้องน้ำ ควรซับอวัยวะเพศให้แห้ง โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอด
  • ใส่กางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันการอับชื้นที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันช่องคลอดจะหาย
  • ไม่ควรเกาช่องคลอด เพราะอาจทำให้ผิวบริเวณนั้นระคายเคือง และอาจส่งผลให้เกิดแผลถลอก ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเดิม
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา