backup og meta

วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ใส่อย่างไรให้ถูกวิธี

วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ใส่อย่างไรให้ถูกวิธี

ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ควรศึกษา วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะหากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไม่ถูกวิธีหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ใส่ไว้ช่องคลอดนานเกินไป ใช้ชนิดดูดซับพิเศษ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) ได้

[embed-health-tool-ovulation]

ผ้าอนามัยแบบสอดคืออะไร

ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) มีลักษณะเป็นสำลีหลอดเล็ก ๆ ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อซึมซับและรองรับเลือดประจำเดือนก่อนที่เลือดจะไหลออกจากช่องคลอด ผ้าอนามัยชนิดนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคล่องตัวในการประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่อาจทำได้ไม่สะดวกหากใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น เช่น การว่ายน้ำ ทั้งนี้ ควรเลือกขนาดของผ้าอนามัยที่เหมาะสมและพอดีกับปริมาณประจำเดือนที่มาเป็นประจำในแต่ละเดือน โดยในช่วงวันแรก ๆ ของการมีประจำเดือนอาจเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอดขนาดใหญ่ที่ซึมซับเลือดได้มากขึ้น ในขณะที่ประจำเดือนยังมาไม่เต็มที่หรือวันที่ใกล้จะหมดอาจเลือกใช้ผ้าแผ่นอนามัยแบบแผ่นแทนที่จะใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพื่อลดการระคายเคืองในขณะใส่

ผ้าอนามัยแบบสอดมีทั้งแบบที่มาพร้อมเครื่องช่วยสอดที่เป็นแท่งพลาสติก และแบบที่ใช้นิ้วสอดเข้าไปเอง โดยจะมีเชือกอยู่ที่ปลายของผ้าอนามัยสำหรับดึงออกมานอกร่างกาย หากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างถูกวิธีในตำแหน่งที่เหมาะสมจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในช่องคลอดหรือรู้สึกระคายเคือง หากใส่แล้วรู้สึกถึงวัตถุภายในช่องคลอดหรือรู้สึกเจ็บ อาจแสดงว่าใส่ผ้าอนามัยไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะเกิดจากการใส่ตื้นเกินไป และควรดึงออกมาแล้วใส่ใหม่อีกครั้ง และควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในขณะที่รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ควรเกร็งหรือทำให้ช่องคลอดบีบรัด เพราะอาจทำให้ใส่ผ้าอนามัยได้ยากขึ้น ในขณะใส่อาจแบ่งเล็กน้อยเพื่อทำให้ก่อนการเปิดของปากช่องคลอดมากขึ้นซึ่งจะทำให้ใส่ได้ง่ายขึ้น

วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด อย่างถูกวิธี

วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอด อย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

วิธีการใส่และถอดผ้าอนามัยแบบใช้นิ้วมือ

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า จากนั้นเช็ดมือให้แห้งสนิทด้วยผ้าหรือทิชชู่สะอาด
  2. ใช้นิ้วมือข้างหนึ่งเปิดปากช่องคลอดให้ขยายออกเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสอดผ้าอนามัยเข้าไปได้สะดวก จากนั้นค่อย ๆ ใช้นิ้วมืออีกข้างจับผ้าอนามัยสอดเข้าไปในช่องคลอด
  3. ใช้นิ้วมือดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ หรืออยู่ประมาณกึ่งกลางของช่องคลอด ควรให้เหลือปลายเชือกไว้เล็กน้อย เพื่อให้ดึงผ้าอนามัยแบบสอดออกจากช่องคลอดได้สะดวก
  4. เมื่อต้องการถอดผ้าอนามัยแบบสอด ให้ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดมือแห้งสนิทด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด จากนั้นใช้นิ้วมือข้างหนึ่งเปิดปากช่องคลอดเล็กน้อย แล้วดึงเชือกที่เชื่อมปลายของผ้าอนามัยแบบสอดออกมา โดยอาจเบ่งช่วยเล็กน้อยเพื่อให้ออกมาง่ายขึ้น เมื่อดึงผ้าอนามัยแบบสอดออกมาได้แล้ว ให้นำไปห่อกระดาษหรือทิชชูให้มิดชิดแล้วะทิ้งลงถังขยะทันที

วิธีการใส่ผ้าอนามัยแบบใช้เครื่องช่วย

ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดที่มีเครื่องช่วยใส่ จะมาพร้อมอุปกรณ์ช่วยสอดที่มีลักษณะเป็นก้านพลาสติดที่ใช้บรรจุผ้าอนามัย ช่วยให้สอดผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ยังใช้งานผ้าอนามัยแบบสอดไม่ถนัด วิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอดที่มีเครื่องช่วยสอด อาจมีดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า จากนั้นเช็ดมือให้แห้งสนิทด้วยผ้าหรือทิชชูสะอาด
  2. ใช้นิ้วมือข้างหนึ่งเปิดปากช่องคลอดให้ขยายออกเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสอดผ้าอนามัยเข้าไปได้สะดวก
  3. ใช้นิ้วมือดันปลายก้านพลาสติก เพื่อดันให้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอด
  4. ดันผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปให้ถึงเส้นขีดบอกระดับที่เหมาะสมที่อยู่บนก้านพลาสติก ควรเหลือปลายเชือกไว้เล็กน้อย เพื่อให้ดึงผ้าอนามัยออกมาได้ง่าย จากนั้นทิ้งก้านพลาสติกที่ใช้แล้ว และไม่ควรใช้เครื่องช่วยสอดผ้าอนามัยแบบแผ่นซ้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  5. เมื่อต้องการถอดผ้าอนามัยแบบสอด ให้ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดมือแห้งสนิทด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด จากนั้นใช้นิ้วมือข้างหนึ่งเปิดปากช่องคลอดเล็กน้อย แล้วดึงเชือกที่เชื่อมปลายของผ้าอนามัยแบบสอดออกมา เมื่อดึงผ้าอนามัยแบบสอดออกมาได้แล้ว ให้นำไปห่อกระดาษหรือทิชชูให้มิดชิดแล้วะทิ้งลงถังขยะทันที

วิธีดูแลตัวเองเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด

วิธีดูแลตัวเองเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด อาจมีดังนี้

  • ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหากไม่มีประจำเดือน หากต้องการใส่ผ้าอนามัยเผื่อไว้เพราะประจำเดือนใกล้มาแล้ว หรือใส่ในช่วงวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือน อาจเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแผ่นอนามัยแทน เพื่อรองรับเลือดประจำเดือนที่อาจมีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น
  • ไม่ควรผ้าอนามัยแบบสอดใส่ในตอนนอน เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และนอนหลับไม่เต็มที่ได้  รวมถึงอาจใส่นานเกินไป เพราะไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดอันเดียวเกิน 8 ชั่วโมง
  • ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อรู้สึกว่าผ้าอนามัยดูดซับเลือดจนเต็มแล้ว เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากผ้าอนามัยอาจถูกดันลึกเข้าไปในช่องคลอด จนไม่สามารถดึงออกมาได้ หรือสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายในช่องคลอด
  • ขณะปัสสาวะควรระวังไม่ให้ปลายเชือกของผ้าอนามัยแบบสอดที่โผล่ออกมาจากช่องคลอดสัมผัสกับปัสสาวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นผ้าอนามัยที่สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดโดยตรง จึงไม่ควรใส่ไว้นานกว่า 8 ชั่วโมง เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดเนื้อปวดตัว วิงเวียนศีรษะ มีผื่นคัน อาเจียน ท้องเสีย ควรหยุดใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและรีบไปพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ผ้าอนามัยแบบสอด. https://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/job/MenstrualHygieneMaterial/tampon.html. Accessed June 2, 2022

Sanitary Products for Your Period. https://teens.webmd.com/features/sanitary-products. Accessed June 2, 2022

Pads vs. Tampons: What to Know. https://www.webmd.com/women/pads-vs-tampons-what-to-know. Accessed June 2, 2022

How do I use tampons, pads, period underwear, and menstrual cups? https://www.plannedparenthood.org/learn/health-and-wellness/menstruation/how-do-i-use-tampons-pads-and-menstrual-cups. Accessed June 2, 2022

Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed June 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เมน คืออะไร ควรใช้ผ้าอนามัยแบบไหน

ผ้าอนามัยแบบสอด ทำความเข้าใจก่อนใช้งานจริง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา