backup og meta

หนองในเทียม อาการ สาเหตุ การรักษา

หนองในเทียม อาการ สาเหตุ การรักษา

หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรียคลามายเดีย ทราโคเมทิส (Chlamydia Trachomatis) อาจเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเพศหญิง อาการของผู้ที่เป็นหนองในเทียม ได้แก่ ปวดบริเวณอวัยวะเพศ และมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือองคชาต มีตกขาวเพิ่มขึ้น หรือปวดหน่วงท้องน้อย อาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น ภาวะมีบุตรยาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง 

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

หนองในเทียม คืออะไร

หนองในเทียม หรือ คลามายเดีย (Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease หรือ STDs) ที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อว่า คลามายเดีย ทราโคเมทิส ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นหนองในเทียม เพราะมักไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการ นอกจากติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจแสดงอาการ ได้แก่ เจ็บที่อวัยวะเพศ และมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือองคชาต หนองในเทียมอาจส่งผลกระทบต่อคอมดลูก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ตา และคอได้อีกด้วย

หนองในเทียมพบได้บ่อยแค่ไหน

หนองในเทียมพบได้บ่อย มีการติดเชื้อประมาณ 131 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี หนองในเทียมอาจพบได้มากกว่าหนองในแท้ 3 เท่า และมากกว่าซิฟิลิส (Syphilis) 50 เท่า หากสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ ควรเข้ารับการตรวจและรับการรักษาโดยทันที

อาการ

อาการของหนองในเทียม

หนองในเทียมมักไม่ค่อยแสดงให้เห็นถึงสัญญาณเตือนและอาการในระยะเริ่มแรก และบางรายอาจไม่มีอาการเลย บางรายอาจมีอาการต่าง ๆ หากติดเชื้อรุนแรง ดังต่อไปนี้

  • มีไข้ต่ำ
  • มีอาการบวมรอบช่องคลอดหรืออัณฑะ
  • มีความรู้สึกปวดหรือแสบในระหว่างขับถ่ายปัสสาวะ
  • มีอาการปวดท้องส่วนล่าง
  • มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดที่ผิดปกติ
  • มีสารคัดหลั่งจากองคชาต
  • มีอาการปวดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกในระหว่างช่วงมีประจำเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการปวดอัณฑะ

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายใน 1-3 สัปดาห์ของการรับเชื้อ หากมีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอทันที

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากมีอาการต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นหนองในเทียม หรือคู่นอนมีสารคัดหลั่งผิดปกติจากอวัยวะเพศ ควรรีบปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค

สาเหตุ

สาเหตุของหนองในเทียม

หนองในเทียมเกิดจากแบคทีเรียที่เรียกว่า คลามายเดีย ทราโคเมทิส และอาจแพร่สู่กันได้ง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก และทางทารหนัก หากหญิงตั้งครรภ์เป็นหนองในเทียมอาจแพร่เชื้อไปยังทารกได้ ซึ่งทำให้เกิด โรคปอดบวม (Pneumonia) หรือการติดเชื้อรุนแรงที่ดวงตา และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) โดยการอักเสบเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียได้แพร่กระจายไปยังเชิงคอมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ต่ำ ๆ บางรายอาจมีตกขาวผิดปกติ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ท้องนอกมดลูก หรือมีอาการปวดปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)
  • กลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ทำให้เกิดข้ออักเสบ ตาแดง และความผิดปกติเกี่ยวกับท่อปัสสาวะ
  • การติดเชื้ออื่น ๆ การติดเชื้อเหล่านี้อาจส่งผลต่อพื้นผิวของท่อปัสสาวะในผู้ชาย พื้นผิวของไส้ตรง หรือดวงตา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นหนองในเทียม

หนองในเทียมอาจมีปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • มีอายุน้อยกว่า 24 ปี
  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคหนองในเทียม

หนองในเทียมอาจตรวจพบได้ระหว่างการตรวจร่างกาย มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำควรเข้ารับการตรวจร่างกายทุกปี โดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือเคยเป็นหนองในเทียมมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน เพราะผู้ที่เป็นหนองในเทียมมักตรวจพบการติดเชื้อร่วมกับหนองในแท้ด้วย

การรักษาโรคหนองในเทียม

หนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ คุณหมอจะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับทั้งผู้ป่วยและคู่นอน ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นเวลานานประมาณ 10 วัน หรือในบางกรณีอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ กว่าจะรักษาหนองในเทียมให้หายขาด

ในระหว่างที่รับการรักษาหนองในเทียม ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และควรใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามคุณหมอส่งเพื่อป้องกันการดื้อยาและการกลับมาติดเชื้อซ้ำ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับหนองในเทียม

วิธีการดูแลตนเองหากป่วยเป็นโรคหนองในเทียมอาจปฏิบัติได้ดังนี้

  • ถ้ามีการติดเชื้อหนองในเทียม ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดหนองในเทียม
  • มีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ตรวจร่างกายเป็นประจำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chlamydia-CDC Fact sheet. http://www.cdc.gov/std/chlamydia/stdfact-chlamydia.htm. Accessed July 07, 2022.

Chlamydia. https://www.plannedparenthood.org/learn/stds-hiv-safer-sex/chlamydia. Accessed July 07, 2022.

Chlamydia. https://www.nhs.uk/conditions/chlamydia/. Accessed July 07, 2022.

Chlamydia. https://www.webmd.com/sexual-conditions/chlamydia#1. Accessed July 07, 2022.

Chlamydia trachomatis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chlamydia/symptoms-causes/syc-20355349. Accessed July 07, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/07/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม ส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างไร

วิธีรักษาหนองใน กับสิ่งที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 13/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา