backup og meta

อาการประจําเดือนใกล้มา สังเกตได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/08/2022

    อาการประจําเดือนใกล้มา สังเกตได้อย่างไร

    อาการประจําเดือนใกล้มา อาจสังเกตได้จากอาการอารมณ์แปรปรวน ปวดท้องเกร็ง หรือเจ็บเต้านม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้ การศึกษาเกี่ยวกับอาการประจำเดือนใกล้มา และวิธีบรรเทาอาการ จึงอาจช่วยให้สามารถรับมือกับสุขภาพของร่างกายเมื่อมีประจำเดือนได้ดีมากขึ้น

    ประจำเดือน คืออะไร

    ประจำเดือน คือ เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไหลออกทางช่องคลอด ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการตกไข่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ เกิดเป็นการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนทั้งสองจะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งในช่วงของการตกไข่นั้น บางคนอาจมีอาการก่อนประจำเดือน ที่เป็นสัญญาณเตือนเพื่อให้ทราบว่าประจำเดือนใกล้มาแล้ว

    อาการประจําเดือนใกล้มา มีอะไรบ้าง

    อาการประจําเดือนใกล้มา อาจสังเกตได้ดังนี้

    • เจ็บเต้านม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และโปรแลคติน (Prolactin) ในช่วงหลังตกไข่ไปจนถึงช่วงที่ประจำเดือนมา อาจส่งผลให้เกิดอาการเต้านมขยาย และเจ็บเต้านมเมื่อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้า
    • ปวดศีรษะ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีอาการปวดศีรษะหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นไมเกรนก่อนประจำเดือนมา
    • นอนไม่หลับหรือหลับยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน อาจทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว นอนหลับยาก
    • อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวหงุดหงิด เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวโกรธ กลับไปกลับมา บางคนอาจมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าร่วมด้วย
    • ปวดท้องเกร็ง อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวเพื่อเตรียมขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา ทำให้รู้สึกปวดท้องเกร็งบริเวณท้องส่วนล่างหรือท้องน้อย และอาจปวดต่อเนื่องไปจนถึงช่วงประจำเดือนใกล้หมดได้

    นอกจากนี้ บางคนยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น อาเจียน ปวดหลัง สิวขึ้น ผิวหนังอักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด ปัสสาวะน้อยลง ความอยากอาหารลดลงหรือเพิ่มขึ้น และแรงขับทางเพศลดลง

    วิธีบรรเทาอาการประจำเดือน

    ปกติแล้วอาการประจำเดือน มักจะหายได้เองหลังจากประจำเดือนมา แต่หากอาการเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจบรรเทาอาการด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    ยา

    • ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดท้องเกร็ง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ โดยควรรับประทาน 3 ครั้งละไม่เกิน 1-2 เม็ด หรือ 1,000 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ
    • ยากล่อมประสาท เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการอารมณ์แปรปรวน ลดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ในช่วงก่อนประจำเดือนมา
    • ยาขับปัสสาวะ ซึ่งไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะเอง ต้องปรึกษาแพทย์เท่านั้น เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงเรื่องความดันโลหิตต่ำ หรือเกลือแร่ในเลือดผิดปกติได้
    • ยาคุมกำเนิด อาจใช้เพื่อช่วยหยุดการตกไข่ และอาจช่วยบรรเทาอาการก่อนประจำเดือนมาได้ แต่ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับประทาน

    ารดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการประจําเดือนใกล้มา

    • ประคบร้อน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง โดยนำแผ่นทำความร้อนหรือถุงน้ำร้อน มาประคบบริเวณท้องน้อยเอาไว้ได้นานตามต้องการ อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้ความร้อนหรือน้ำร้อนที่มี อุณหภูมิสูงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ผิวหนังไหม้หรือมีอาการแสบผิวได้
    • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายในระดับเบา เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน อาจช่วยลดระดับความเครียดและบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี หรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม เนื่องจากอาจมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพ ลดอาการซึมเศร้า และลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันอาการท้องอืด แน่นท้อง และอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
    • ลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ นอนหลับพักผ่อน เล่นเกม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา