backup og meta

ฮอร์โมนของผู้หญิง มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    ฮอร์โมนของผู้หญิง มีอะไรบ้าง

    ฮอร์โมนผู้หญิง มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญพันธุ์ การสืบพันธุ์ และการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากร่างกายมีฮอร์โมนผู้หญิงไม่สมดุลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อารมณ์แปรปรวน ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ภาวะช่องคลอดแห้ง ประจำเดือนมาไม่ปกติ

    ฮอร์โมนผู้หญิงคืออะไร

    ฮอร์โมนผู้หญิง คือ สารเคมีที่รังไข่และต่อมไร้ท่อผลิตขึ้น โดยจะปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเจริญเติบโต การนอนหลับ การสืบพันธุ์ ความต้องการทางเพศ ซึ่งระดับฮอร์โมนผู้หญิงอาจสูงสุดเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่นระหว่างอายุ 8-13 ปี และอาจลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่ออายุ 50 ปี

    ฮอร์โมนผู้หญิง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

    • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศที่รังไข่ผลิตขึ้น มีบทบาทสำคัญช่วยในการเจริญพันธุ์และระบบสืบพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ และการเจริญเติบโตด้านร่างกาย เช่น การขยายของหน้าอก ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง กระตุ้นการสร้างเส้นผมและขนบริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ
    • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่รังไข่และต่อมหมวกไตผลิตขึ้น มีบทบาทสำคัญช่วยควบคุมการตกไข่ ซึ่งมีผลกระทบต่อการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์

    นอกจากนี้ ผู้หญิงยังอาจมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่รังไข่ผลิตขึ้นร่วมด้วย แต่อาจมีในปริมาณน้อย หากผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เช่น มีหนวดและขนขึ้นตามร่างกายเยอะกว่าปกติ โทนเสียงทุ้ม มีสิว

    ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนผู้หญิงไม่สมดุล

    ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนผู้หญิงไม่สมดุล มีดังนี้

    • สิวขึ้น
    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    • ช่องคลอดแห้ง
    • ขนขึ้นทั่วทั้งร่างกายมากกว่าปกติ
    • แรงขับทางเพศต่ำ
    • รู้สึกเจ็บเต้านม
    • ปวดกล้ามเนื้อ
    • ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้า และนอนไม่หลับ
    • เหนื่อยล้าง่าย
    • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
    • มวลกระดูกอาจลดลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
    • เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มีบุตรยาก แท้งบุตร ตั้งครรภ์แฝด กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เนื้องอกในรังไข่ และมะเร็งรังไข่

    อาการแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

    หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรพบคุณหมอทันที

    • ความต้องการทางเพศลดลง
    • ช่องคลอดแห้งและรู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    • ปวดกระดูกเชิงกราน
    • ผมร่วง หรือมีขนขึ้นทั่วทั้งร่างกายมากเกินไป
    • ภาวะซึมเศร้า
    • มีบุตรยาก

    ฮอร์โมนผู้หญิงไม่สมดุลควรทำอย่างไร

    เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจให้บำบัดฮอร์โมนทดแทนตามระดับของฮอร์โมนที่ลดลง ดังนี้

    การบำบัดฮอร์โมนเอสโตรเจน

    • ยาฮอร์โมนแบบเม็ด เป็นการรักษาสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ เหมาะสำหรับช่วงวัยหมดประจำเดือน โดยคุณหมออาจให้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน วันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
    • แผ่นแปะฮอร์โมน เป็นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบแปะผิวหนัง เพื่อให้ฮอร์โมนซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง มักแปะในบริเวณหน้าท้อง ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก ๆ 2-3 วัน หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
    • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบใช้เฉพาะที่ มีในรูปแบบครีม เจล และสเปย์พ่น โดยฮอร์โมนจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง เพื่อปรับฮอร์โมนให้สมดุล นอกจากนี้ ยังมีในรูปแบบวงแหวนช่องคลอด หรือยาสอดหรือเหน็บช่องคลอด เหมาะกับผู้ที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง และมีอาการแสบร้อนช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยควรใช้เป็นประจำทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจใช้เพียง 2 วัน/สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ใช้วงแหวนช่องคลอด อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

    การบำบัดฮอร์โมนแบบผสมผสาน

    การบำบัดฮอร์โมนแบบผสมผสาน โดยใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในรูปแบบสังเคราะห์ มีทั้งในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทานและห่วงอนามัยสำหรับสอดช่องคลอด เพื่อช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง และอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และภาวะช่องคลอดแห้ง

    อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็เยื่อบุโพรงมดลูกได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนได้รับการบำบัด เพื่อความปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา