backup og meta

เจ็บเต้านม เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    เจ็บเต้านม เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายหรือไม่

    เจ็บเต้านม หมายถึง อาการเจ็บปวด คัดตึง เสียวแปลบ แสบร้อน หรือเป็นก้อนแข็งบริเวณเต้านมทั้ง 2 ข้าง พบมากในเพศหญิง สาเหตุมักเกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน แต่อาจเกิดเพราะสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน อย่างการตั้งครรภ์ การอุดตันของท่อน้ำนม รวมถึงการใช้ยาบางชนิด โดยทั่วไป อาการเจ็บเต้านมในช่วงก่อนมีประจำเดือนไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และมักหายไปได้เอง แต่สำหรับอาการเจ็บเต้านมที่เกิดจากสาเหตุอื่น อาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ และการปรับพฤติกรรม เช่น ในหญิงตั้งครรภ์หากเจ็บเต้านม ควรระบายน้ำนมออกให้หมดเต้า เพื่อป้องกันน้ำนมหลงเหลือและอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ท่อน้ำนมอุดตันและติดเชื้อจนอาการรุนแรงขึ้นได้

    เจ็บเต้านมเกิดจากอะไร

    เจ็บเต้านม หมายถึง อาการเจ็บ แสบร้อน เสียวแปลบ หรือคัดตึงบริเวณเต้านมหรือช่วงหน้าอก ซึ่งมักเกิดในช่วงก่อนผู้หญิงมีประจำเดือน โดยมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ลดลง ซึ่งถือเป็นภาวะสุขภาพที่ปกติก่อนมีประจำเดือน

    อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเต้านมอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประจำเดือน เช่น

    • การสวมเสื้อชั้นในที่ไม่เหมาะสมกับขนาดหน้าอก ส่งผลให้เส้นเอ็นที่เชื่อมต่อระหว่างเต้านมกับผนังทรวงอกตึงเกินไป และเป็นสาเหตุให้เจ็บเต้านมได้
    • การตั้งครรภ์ อาการเจ็บหรือคัดตึงเต้านม เป็นสัญญาณแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนไปทั้งนี้ อาการเจ็บเต้านมมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของการตั้งครรภ์
    • น้ำนมที่มากเกินไป หญิงที่ให้นมบุตร หากลูกไม่ดูดนมหรือไม่ระบายน้ำนมออกจากเต้าจนหมด อาจทำให้เจ็บเต้านม บวม หรือเป็นก้อนแข็งได้
    • เต้านมอักเสบ (Mastitis) เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมและการติดเชื้อโรคแบคทีเรีย โดยผู้ที่มีภาวะเต้านมอักเสบมักมีอาการเจ็บเต้านม เต้านมบวม และเต้านมแดง
    • การใช้ยาบางประเภท เช่น ออกซีเมโทโลน (Oxymetholone) คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) เมธิลโดปา (Methyldopa) รวมถึงยาคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการเจ็บเต้านมได้
    • มะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory Breast Cancer) ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หากเซลล์มะเร็งขัดขวางการทำงานของท่อน้ำเหลืองบริเวณหน้าอก อาจเป็นสาเหตุให้เจ็บเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งเต้านมอักเสบอาจพบได้น้อยมาก

    ทั้งนี้ เพศชายอาจมีอาการเจ็บเต้านมได้ มักมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าอกเพิ่มจำนวนผิดปกติและทำให้เกิดการคัดตึงเต้านมและรู้สึกเจ็บได้

    เจ็บเต้านม มีอาการอย่างไร

    อาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน และอาการเจ็บเต้านมที่ไม่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน แสดงอาการที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

    อาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน

    • เกิดขึ้นก่อนเป็นประจำเดือน และจะหายไปเมื่อประจำเดือนหมดลงในรอบนั้น ๆ
    • เกิดในผู้หญิงช่วงอายุ 20-40 ปี
    • เกิดบริเวณส่วนบนของเต้านม และรู้สึกเจ็บพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
    • อาจรู้สึกเจ็บปวด หรือคัดตึงค่อนข้างรุนแรงช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน

    อาการเจ็บเต้านมที่ไม่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน

    • ให้ความรู้สึกเจ็บปวดหรือแน่นตึงบริเวณเต้านม
    • อาจรู้สึกเจ็บปวดแบบต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่ต่อเนื่องก็ได้
    • มักรู้สึกเจ็บที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่ง แต่อาจรู้สึกเจ็บที่เต้าอีกข้างได้ในภายหลัง

    ทั้งนี้ ควรไปพบคุณหมอ หากอาการเจ็บเต้านมมีลักษณะดังนี้

    • เกิดขึ้นทุกวัน และเป็นอย่างต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
    • เกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งของเต้านม
    • มีอาการแย่ลงกว่าเดิม
    • รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนไม่หลับ เครียด วิตกกังวล
    • มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้

    เจ็บเต้านม รักษาได้หรือไม่

    หากอาการเจ็บเต้านมรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการรุนแรงขึ้นในแต่ละเดือน หรือไม่หายแม้ว่าประจำเดือนจะหมดลงแล้ว ควรพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย เมื่อไปถึงสถานพยาบาล คุณหมออาจตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและเลือกรักษาอาการเจ็บเต้านม ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ให้ทายาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs) บริเวณหน้าอก เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดหรืออาการอักเสบ
    • ให้รับประทานยาต้านเชื้อ เป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน เพื่อรักษาการติดเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเต้านมอักเสบ
    • ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดเบื้องต้น
    • ให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน เพื่อปรับระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนมีประจำเดือนให้อยู่ในภาวะสมดุล เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บเต้านม
    • ปรับการใช้ยาคุมกำเนิด หากอาการเจ็บเต้านม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากการใช้ยาคุมกำเนิด คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาคุมกำเนิดแบบต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเว้น 7 วันหลังยาหมดแผง
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยดูจากสาเหตุของอาการเจ็บเต้านม เช่น การเลือกสวมเสื้อชั้นในที่เหมาะสมกับขนาดหน้าอก การปั๊มนมออกอย่างสม่ำเสมอในหญิงระยะให้นมบุตร

    เจ็บเต้านม ป้องกันอย่างไร

    อาการเจ็บเต้านม อาจป้องกันได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • เลือกสวมใส่เสื้อชั้นในขนาดที่เหมาะสมกับเต้านม ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป หรือหลวมเกินไป ควรใส่ให้กระชับพอดีเพื่อรองรับขนาดเต้านม
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงทำให้เจ็บเต้านม
    • เลือกคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยแทนการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีคุมกำเนิดรูปแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย
    • หญิงให้นมบุตรควรให้ลูกดูดน้ำนมจนหมดเต้า หรือปั๊มน้ำนมออก เพราะหากน้ำนมค้างเต้าอาจส่งผลให้เต้านมอุดตันและติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเต้านมอักเสบ และทำให้เจ็บเต้านมรุนแรงขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา