backup og meta

เชื้อราในช่องคลอด อาการ สาเหตุ และการรักษา

เชื้อราในช่องคลอด อาการ สาเหตุ และการรักษา

เชื้อราในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดา (Candida) ภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง คัน มีอาการตกขาว และทำให้รู้สึกไม่สบายตัว การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยา แต่หากเกิดการติดเชื้อซ้ำ ๆ 4 ครั้ง/ปี หรือมากกว่านั้น ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

เชื้อราในช่องคลอด คืออะไร

เชื้อราในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดาภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด โดยปกติช่องคลอดจะมีการเติบโตของเชื้อราที่เป็นเชื้อประจำถิ่นของช่องคลอด (Normal flora) ในปริมาณที่สมดุลอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการเสียสมดุลของกรดด่างในช่องคลอดไป จากการที่แบคทีเรียชนิดดีหรือแลกโตบาซิลลัสที่เป็นเชื้อประจำถิ่นของช่องคลอดถูกทำลายไป จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป และนำไปสู่การติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและคันภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด มีอาการตกขาว รวมถึงทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

แม้เชื้อราในช่องคลอดจะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่บางครั้งการมีเพศสัมพันธ์ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราบริเวณช่องคลอดได้

เชื้อราในช่องคลอด พบบ่อยเพียงใด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คน อาจติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดซ้ำได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

อาการ

อาการของการติดเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นน้ำ ตกขาวมีสีขาวข้นและเป็นก้อน
  • คันและระคายเคืองภายในช่องคลอด
  • ปวดช่องคลอด
  • มีผื่นภายในช่องคลอด
  • รู้สึกแสบ โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

แม้การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ แต่หากติดเชื้อมากกว่า 4 ครั้ง/ปี หรือไม่แน่ใจว่ากำลังติดเชื้อราในช่องคลอดหรือไม่ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุ

สาเหตุของเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมนที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจทำให้สมดุลในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงได้
  • การรับประทานยาปฏิชีวนะ อาจทำลายแลคโตบาซิลลัสซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อราเติบโตมากเกินไป
  • การตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือวัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ความสมดุลภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น การติดเชื้อ HIV 
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเยื่อบุช่องคลอดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป จนทำให้ความสมดุลในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดหรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไป ซึ่งอาจทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเชื้อราในช่องคลอด

คุณหมออาจวินิจฉัยเชื้อราในช่องคลอด ด้วยวิธีการเหล่านี้

  • สอบถามประวัติเกี่ยวกับการรักษา ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อราในช่องคลอด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจอุ้งเชิงกราน โดยคุณหมอจะตรวจดูอวัยวะเพศภายนอกเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ จากนั้นจึงจะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อให้ตรวจดูช่องคลอดและปากมดลูกได้ง่ายขึ้น
  • ทดสอบสารคัดหลั่งในช่องคลอด โดยคุณหมออาจส่งตัวอย่างของเหลวภายในช่องคลอดไปตรวจหาชนิดของเชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งการระบุชนิดของเชื้อรานั้นอาจทำให้คุณหมอกำหนดวิธีการรักษาการติดเชื้อในช่องคลอดที่เกิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาเชื้อราในช่องคลอด

การรักษาเชื้อราในช่องคลอดอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของการติดเชื้อ หากเกิดอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีอาการไม่บ่อย คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาต้านเชื้อรา คลอตริมาซอล (Clotrimazole) ที่เป็นยาเหน็บช่องคลอด 7 วัน หากมีอาการแสบอวัยวะเพศด้านนอกด้วย อาจใช้ร่วมกับครีมคลอตริมาซอล 
  • การรับประทานยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อราแบบรับประทานครั้งเดียว 

หากรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วอาการยังไม่หายไป หรือกลับมาเป็นซ้ำ ควรกลับไปพบคุณหมออีกครั้ง 

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อราที่ช่องคลอดบ่อย ๆ คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การใช้ยาต้านเชื้อราทุกวัน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น ให้ใช้ยาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • การรับประทานยาต้านเชื้อรา คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อรา 2-3 โดสให้รับประทานแทนการรักษาทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม การรักษาในรูปแบบนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • การใช้ยาสอดช่องคลอดกรดบอริก (Boric Acid) ในรูปแบบแคปซูล ซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอดที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อราตามปกติ ยานี้ไม่สามารถรับประทานได้ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต 

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือเชื้อราในช่องคลอด

แม้จะไม่มีวิธีป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด แต่การปรับพฤติกรรมบางอย่างก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ 

  • หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นใน หรือกางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี รวมถึงใส่กางเกง หรือกระโปรงทรงหลวม เพื่อป้องกันการอับชื้น ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อราในช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นทันที เช่น ชุดออกกำลังกาย ชุดว่ายน้ำ 
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรขอคำแนะนำในการใช้ยาจากคุณหมอหรือเภสัชกร
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแลคโตบาซิลลัส เช่น โยเกิร์ต เนื่องจากแลคโตบาซิลลัสเป็นแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดช่องคลอด และช่วยรักษาความป็นกรดด่างภายในช่องคลอด 
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราที่ช่องคลอดได้
  • หากมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และไม่ควรใช้แผ่นอนามัยมีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันการอับชื้นและการระคายเคือง
  • ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดหรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ เพื่อช่วยไม่ให้ความสมดุลภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Yeast infection (vaginal). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yeast-infection/symptoms-causes/syc-20378999. Accessed December 22, 2021

Vaginal Yeast Infections. https://www.webmd.com/women/guide/understanding-vaginal-yeast-infection-basics. Accessed December 22, 2021

Vaginal Candidiasis. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/candidiasis/genital/index.html. Accessed December 22, 2021

Yeast Infection. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/candidiasis-yeast-infection. Accessed December 22, 2021

Yeast Infection Signs and Symptoms. https://www.webmd.com/women/guide/common-symptoms-of-a-yeast-infection. Accessed December 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา