backup og meta

เป็นเมน ประจำเดือนมาแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

เป็นเมน ประจำเดือนมาแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

เป็นเมน หรือประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพโดยปกติของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากการที่ร่างกายตกไข่เดือนละ 1 ฟองเพื่อรอการปฏิสนธิ เมื่อไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เยื่อบุผนังมดลูกลอกตัวออกกลายเป็นเลือดประจำเดือน โดยเลือดประจำเดือนจะไหลออกทางช่องคลอด ทุก ๆ 21-35 วันอย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสังเกตลักษณะ ปริมาณ สีประจำเดือน และรอบของประจำเดือน หากพบอาการเป็นเมนหรือประจำเดือนที่ผิดปกติ และทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือกังวลใจ เช่น เมนไม่มา เมนมามาก เมนมาน้อย หรือมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและเข้ารับการรักษา

[embed-health-tool-ovulation]

เป็นเมน คืออะไร

เมน ย่อมาจากเมนสทรูเอเชิน (Menstruation) หมายถึง ประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพอย่างหนึ่งของเพศหญิง เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มต้นเมื่อช่วงอายุประมาณ 12-16  ปี ไปจนถึงอายุประมาณ 45-55 ปี

อาการเมื่อเป็นเมน คือ มีเลือดไหลจากช่องคลอด ทุก ๆ 21-35 วัน โดยเลือดประจำเดือน จะไหลติดต่อกัน 4-8 วัน หรือคิดเป็นปริมาณเลือดประมาณ 5-80 มิลลิลิตร ต่อการเป็นเมน 1 ครั้ง

ทั้งนี้ เมนเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน เมื่อไข่หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงไม่ถูกปฏิสนธิ อันส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา และกลายเป็นเลือดประจำเดือนไหลออกมาทางช่องคลอด

เป็นเมน ลักษณะแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

หากเป็นเมนในลักษณะต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจหมายถึงร่างกายมีความผิดปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพในระบบสืบพันธุ์

  • เมนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน หรือมากกว่านั้น
  • มีระยะห่างระหว่างรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน
  • มีระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากกว่า 35 วัน
  • เป็นเมนนานเกิน 8 วัน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากเข้าสู่วัยทองแล้ว
  • มีเมนปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติในแต่ละรอบเดือน
  • พบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ หรือขนาดเกินเหรียญบาทขึ้นไปปะปนมากับเลือดประจำเดือน
  • มีอาการข้างเคียงร่วมด้วยขณะเป็นเมน เช่น ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องอย่างรุนแรง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

ทั้งนี้ อาการเป็นเมนแบบผิดปกติ สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ยาคุมกำเนิด การคุมกำเนิดด้วยยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ อาจทำให้พบความผิดปกติเมื่อเป็นเมนได้ เช่น เมนไม่มาตามปกติหลังหยุดใช้ยาคุมกำเนิด มากะปริบกะปรอย รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นหลังหยุดใช้ยาคุมประมาณ 1-3 เดือนเท่านั้น หากความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นนานเกินกว่านั้น ควรปรึกษาคุณหมอ
  • ยาสเตียรอยด์ การใช้สเตียรอยด์ในระยะยาว มักมีผลข้างเคียง อาจทำให้เมนมาผิดปกติ เช่น เมนมาไม่สม่ำเสมอ เมนไหลออกมากผิดปกติ เมนมานานกว่าปกติเนื่องจากการใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันนานเกินไปส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลง
  • เนื้องอกในมดลูก เป็นภาวะผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงที่อาจเกิดขึ้นได้ กลุ่มเสี่ยงคือผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป สาเหตุการเกิดยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายจนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ และหนึ่งในสัญญาณเตือนคือ เมนมามากและมานานกว่าปกติ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหนองในแท้และหนองในเทียม ส่งผลให้เป็นเมนผิดปกติได้ เช่น เมนมามาก มีเมนนานเกินกว่าปกติ ร่วมกับอาการอย่างอื่น เช่น มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น สีเขียวหรือเหลือง มีอาการปวดท้องน้อย และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย อันส่งผลให้เกิดถุงน้ำหรือซีสต์จำนวนมากในรังไข่ ซึ่งจะส่งผลให้เมนมาไม่ปกติ หรือเมนไม่มา และทำให้ผู้ป่วยมีหน้าเป็นสิวเยอะ ผิวมัน และขนบนร่างกายที่มากผิดปกติ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเป็นฮอร์โมนอินซูลินหรือแอนโดรเจน (Androgen) ที่ผลิตมากเกินไปในร่างกาย รวมถึงพันธุกรรมอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ด้วย
  • ไลฟ์สไตล์ ปัจจัยในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารที่เลือกรับประทาน น้ำหนักตัว สามารถส่งผลต่อลักษณะของประจำเดือนได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวมาก หากมีไขมันมากเกินไป ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ ทำให้ร่างกายไม่ตกไข่เป็นเวลานาน ส่งผลให้เมนมาไม่สม่ำเสมอ

เมื่อเป็นเมนแบบผิดปกติ คุณหมอจะรักษาอย่างไร

เมื่ออาการเป็นเมนผิดปกติ คุณหมอจะวินิจฉัยสาเหตุและรักษาตามอาการ โดยวิธีการที่ใช้รักษา อาจมีดังนี้

  • รับประทานยา ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีเป็นเมนผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • ให้ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) หากประจำเดือนไหลออกมากผิดปกติ คุณหมอจะจ่ายฮอร์โมนโปรเจสตินให้รับประทาน เพื่อยับยั้งการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก มีส่วนช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน
  • ให้รับประทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากการทานยาคุมกำเนิดอาจช่วยลดปริมาณของเลือดประจำเดือนได้ และในกรณีที่คนไข้เป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ก็อาจสามารถช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้
  • ผ่าตัด หากความผิดปกติของอาการเป็นเมนเกิดจากเนื้องอกในมดลูก คุณหมอจะรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกเมื่อมีข้อบ่งชี้ ในกรณีที่คนไข้อายุน้อยหรือยังต้องการมีบุตร อย่างไรก็ตาม หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีภาวะมดลูกโตร่วมด้วยและคนไข้ไม่ได้ต้องการมีบุตรแล้ว คุณหมอจะเลือกผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกไปพร้อมกับมดลูก

อาการเป็นเมนแบบผิดปกติ สามารถป้องกันได้หรือไม่

การดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้ อาจช่วยลดโอกาสเป็นเมนแบบผิดปกติได้

  • ดูแลตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • เลือกใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาสเตียรอยด์ตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • มีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองในแท้หรือหนองในเทียม
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปและมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปีแม้ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
  • หมั่นสังเกตลักษณะของเลือดประจำเดือน สี กลิ่น รวมทั้งปริมาณและรอบของประจำเดือน
  • หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการเป็นเมนของตัวเองว่าปกติหรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Medication That May Affect Your Menstrual Cycle. https://www.london-gynaecology.com/medication-may-affect-menstrual-cycle/#:~:text=Steroid%20medications%20such%20as%20prednisolone,also%20affect%20the%20menstrual%20cycle. Accessed April 19, 2022

Uterine fibroids. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/uterine-fibroids/symptoms-causes/syc-20354288. Accessed April 19, 2022

Pelvic inflammatory disease (PID). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pelvic-inflammatory-disease/symptoms-causes/syc-20352594. Accessed April 19, 2022

Polycystic ovary syndrome (PCOS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pcos/diagnosis-treatment/drc-20353443. Accessed April 19, 2022

Birth control pill FAQ: Benefits, risks and choices. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/birth-control/in-depth/birth-control-pill/art-20045136#:~:text=The%20pill%20prevents%20your%20body,you%20stop%20taking%20the%20pill. Accessed April 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว หมายความว่าอย่างไร

ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา