backup og meta

ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว หมายความว่าอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

    ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว หมายความว่าอย่างไร

    ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว อาจเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นเมื่อช่องคลอดหลั่งสารคัดหลั่งที่ทำหน้าที่ช่วยขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ภายในช่องคลอด ก่อนจะขับออกมาในรูปแบบของตกขาว หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ความเครียด หรือการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่ตกขาวมีกลิ่นและมีสีผิดปกติ พร้อมกับอาการคันช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อในช่องคลอด ที่ควรได้รับการตรวจและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว เกิดจากอะไร

    ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาวอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่มีการตกไข่ จึงอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา และอาจมีอาการตกขาวสีขาวหรือสีแดงร่วมด้วย เนื่องจากการฝังตัวของตัวอ่อนอาจทำให้เลือดออกเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ปนมากับตกขาว
  • การใช้ยาคุมกำเนิด อาจชะลอการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง จนส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติ
  • ระดับฮอร์โมนผิดปกติ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื้องอกต่อมใต้สมอง อาจส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่ และทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกายมากเกินไป ความเครียด การเลือกรับประทานอาหารอย่างไม่เหมาะสม การมีน้ำหนักตัวที่น้อยหรือมากเกินไป อาจส่งผลให้ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการตกไข่เกิดความเปลี่ยนแปลง และทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
  • ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว ควรทำอย่างไร

    ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาวควรปฏิบัติ ดังนี้

    • ตรวจครรภ์ หากประจำเดือนไม่มา 1 เดือน และมีอาการตกขาวร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบแน่ชัดควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ หรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล
    • หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเนื่องจากใช้ยาคุมกำเนิด หากอยากให้ประจำเดือนมาควรหยุดรับประทานยาคุม โดยควรกินแผงเดิมให้หมดก่อนแล้วจึงค่อยหยุด ประจำเดือนอาจมาตามปกติในรอบเดือนถัดไป
    • ลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไปหรือมากเกินไป อาจจำกัดวันและเวลาออกกำลังกายให้พอดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า มีความเครียดนำไปสู่ประจำเดือนขาด

    นอกจากนี้ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบเกี่ยวกับยารักษาโรคที่กำลังใช้อยู่ เช่น ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคจิตเภท เคมีบำบัดรักษามะเร็ง ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา จึงอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชนิดยา

    เมื่อไหร่ที่ควรพบคุณหมอ

    หากพบว่าประจำเดือนไม่มา 1 เดือน และมีตกขาวผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ โดยสังเกตได้จาก ตกขาวเปลี่ยนจากสีขาวใสเป็นสีเขียว เหลือง แดง ชมพู เทา หรือน้ำตาล ตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนหนา เป็นฟอง มีกลิ่นเหม็น ร่วมกับอาการคันช่องคลอด เจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา