backup og meta

ติดเชื้อ แบคทีเรียในช่องคลอด เกิดจากอะไร ต้องรักษาและดูแลอย่างไร

ติดเชื้อ แบคทีเรียในช่องคลอด เกิดจากอะไร ต้องรักษาและดูแลอย่างไร

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด เป็นอาการอักเสบในช่องคลอดชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเจริญเติบโตมากผิดปกติ จนทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดเสียความสมดุล โดยอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อาการที่พบได้บ่อย คือ ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นคาวรุนแรง โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับการตรวจและการรักษาอย่างถูกต้อง

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด คืออะไร

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด เป็นการติดเชื้อในช่องคลอดที่ไม่รุนแรง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ปกติการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ แม้การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ การติดเชื้อเอชไอวี หนองในแท้ เริม

อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

โดยปกติแล้วเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดมักไม่ปรากฏอาการใด ๆ จึงอาจทำให้หลายคนไม่ทราบว่าตัวเองเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด บางครั้งอาการที่เกิดขึ้นก็อาจเป็น ๆ หาย ๆ สำหรับอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดที่อาจสังเกตได้มีดังนี้

  • มีอาการคัน ปวด หรือแสบร้อนในช่องคลอด 
  • มีอาการคันบริเวณรอบนอกของช่องคลอด
  • ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือสีเขียว และอาจเป็นฟอง
  • เจ็บปวดหรือแสบขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีกลิ่นคาวรุนแรง โดยเฉพาะหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • แสบร้อนเวลาปัสสาวะ
  • ค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดไม่สมดุล คือ สูงกว่า 4.5 ซึ่งโดยปกติค่าความเป็นกรดด่างจะอยู่ที่ 3.8-4.5

ควรพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอ

  • มีแผลในช่องคลอด
  • เคยมีประวัติการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
  • มีคู่นอนหลายคน แต่ในบางครั้งอาการที่ปรากฏให้เห็นก็อาจคล้ายคลึงกับอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเบื้องต้นด้วยการใช้ยาจากร้านขายยา แต่ยังคงมีอาการอยู่
  • ตกขาวที่เกิดขึ้นใหม่มีกลิ่น 
  • มีไข้

ทั้งนี้ ควรเข้าพบคุณหมอในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เพราะจะช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจตกขาวที่เกิดขึ้นได้

สาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอาจมีสาเหตุมากจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเจริญเติบโตมากผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำหอมระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้เซ็กส์ทอย โดยไม่ล้างทำความสะอาด
  • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • ใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
  • ใช้สบู่ในการทำความสะอาดช่องคลอด และสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไป
  • ประจำเดือนมามากหรือนานผิดปกติ
  • การตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • สวมกางเกงชั้นใน ถุงน่อง หรือกางเกงที่รัดแน่นเป็นระยะเวลานาน

วิธีรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

สำหรับวิธีการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด คุณหมออาจสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้

  • เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ซึ่งมีทั้งรูปแบบเม็ดที่ใช้ในการรับประทาน และแบบเจลเฉพาะที่ ซึ่งใช้ทาเข้าไปในช่องคลอด ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษาและอย่างน้อย 1 วันหลังจากรักษาเสร็จ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดท้อง หรือคลื่นไส้
  • เซคนิดาโซล (Secnidazole) เป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบซองเม็ดเล็ก ๆ แบบรับประทานครั้งเดียว โดยการโรยลงบนอาหารอ่อน ๆ เช่น โยเกิร์ต ควรรับประทานภายใน 30 นาที โดยระวังอย่าเคี้ยวโดนเม็ดยา
  • คลินดามัยซิน (Clindamycin) เป็นยาในรูปแบบครีมที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด ยาชนิดนี้อาจทำให้ถุงยางอนามัยอ่อนตัวลง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการรักษาและอย่างน้อย 3 วันหลังจากหยุดใช้ครีม
  • ทินิดาโซล (Tinidazole) เป็นยารับประทานที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องและคลื่นไส้ ดังนั้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษาและอย่างน้อย 3 วันหลังจากรักษาเสร็จ

สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ควรเข้ารับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือทารกแรกเกิดอาจมีน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ ควรใช้ยา ครีม หรือเจล ตามที่คุณหมอกำหนด แม้อาการจะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำ

วิธีป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

วิธีลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • เข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคู่นอนก็ได้รับการตรวจเช่นกัน
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้งาน
  • ล้างอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่อ่อน ๆ และไม่ควรสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแลคโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ในการทำความสะอาดช่องคลอด รวมถึงรักษาความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด เช่น โยเกิร์ต 
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือแผ่นอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอมเป็นประจำ เพื่อป้องกันการอับชื้นและการระคายเคือง
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นทันที เช่น ชุดออกกำลังกาย ชุดว่ายน้ำ 
  • หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นใน ถุงน่อง หรือกางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี รวมถึงใส่กางเกง หรือกระโปรงทรงหลวม เพื่อป้องกันการอับชื้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bacterial vaginosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bacterial-vaginosis/symptoms-causes/syc-20352279. Accessed January 14, 2022

Bacterial Vaginosis – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/bv/stdfact-bacterial-vaginosis.htm. Accessed January 14, 2022

Bacterial vaginosis. https://www.nhs.uk/conditions/bacterial-vaginosis/. Accessed January 14, 2022

Bacterial Vaginosis. https://www.webmd.com/women/guide/what-is-bacterial-vaginosis. Accessed January 14, 2022

What is bacterial vaginosis?. https://www.plannedparenthood.org/learn/health-and-wellness/vaginitis/what-bacterial-vaginosis. Accessed January 14, 2022

Bacterial vaginosis. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/bacterial-vaginosis. Accessed January 14, 2022

Bacterial Vaginosis. https://patient.info/sexual-health/vaginal-discharge-female-discharge/bacterial-vaginosis. Accessed January 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/01/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับเพื่อสุขภาพเซ็กส์ในช่วงวัย 60 ปี

จุดซ่อนเร้น ของผู้หญิงและผู้ชาย ควรดูแลอย่างไรหลังการมีเพศสัมพันธ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา