backup og meta

โพรงมดลูกอักเสบ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

โพรงมดลูกอักเสบ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

โพรงมดลูกอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพทางเพศของผู้หญิงที่ควรเข้ารับการรักษาทันที เมื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องเกร็ง มีเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากโพรงมดลูกเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการสืบพันธุ์ การคลอดบุตรและการมีประจำเดือน อีกทั้งยังควรศึกษาวิธีดูแลสุขภาพโพรงมดลูกเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะโพรงมดลูกอักเสบและโรคร้ายแรงอื่น ๆ

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุของโพรงมดลูกอักเสบ

โพรงมดลูกอักเสบ คือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูกชั้นใน ที่อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม หนองในแท้ หนองในเทียม หรือเกิดจากความอับชื้นที่กระตุ้นให้แบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป นอกจากนี้ การคลอดบุตร การแท้งบุตร การใส่ห่วงคุมกำเนิด ก็อาจส่งผลให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้โพรงมดลูกอักเสบได้เช่นกัน

อาการของโพรงมดลูกอักเสบ

อาการของโพรงมดลูกอักเสบ มีดังนี้

  • อาการปวดท้องน้อยและอุ้งเชิงกราน
  • เจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นและสีตกขาวผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเทา สีเขียว สีขาวเป็นก้อนหนา
  • อาการท้องผูก
  • มีไข้ หนาวสั่น และปวดศีรษะ

หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน หนองหรือฝีในอุ้งเชิงกรานและมดลูก ภาวะมีบุตรยาก ภาวะโลหิตเป็นพิษที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ความดันโลหิตต่ำที่อาจนำไปสู่อาการชัก

การรักษาโพรงมดลูกอักเสบ

โพรงมดลูกอักเสบอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยชนิดของยาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อระดับรุนแรง คุณหมออาจจำเป็นต้องให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและอาจให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ

ในรายที่ภาวะนี้เกิดขึ้นหลังคลอดบุตรหรือแท้งบุตรจำเป็นต้องนึกถึงภาวะของการแท้งไม่ครบหรือชิ้นส่วนของรกค้าง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อและมีเลือดออกผิดปกติเช่นนี้ได้เหมือนกัน ซึ่งอาจต้องมีการรักษาเพิ่มเติมโดยการขูดมดลูก

การป้องกันโพรงมดลูกอักเสบ

การป้องกันโพรงมดลูกอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • สอบถามประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคประจำตัวของคู่นอน
  • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคนหรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจส่งผลให้เกิดโพรงมดลูกอักเสบ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • สำหรับผู้ที่คุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัย ควรปฏิบัติตามวิธีการดูแลตัวเองที่คุณหมอแนะนำ หรืออาจเปลี่ยนเป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาคุมแบบฝัง ยาคุมแบบแผ่นแปะ ยาคุมแบบรับประทาน ถุงยางอนามัย
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายความอับชื้นได้ดี เพราะความอับชื้นอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก จนนำไปสู่โพรงมดลูกอักเสบ
  • หลังจากการขับถ่าย ควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ถูกวิธีและซับน้ำด้วยทิชชู่ให้แห้งสนิท เพื่อลดความอับชื้น โดยควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากทวารหนัก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Postpartum Endometritis?. https://www.webmd.com/baby/what-is-postpartum-endometritis.Accessed December 14, 2022 

Endometritis. https://medlineplus.gov/ency/article/001484.htm.Accessed December 14, 2022 

Endometritis https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24334-endometritis.Accessed December 14, 2022 

Endometritis. https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/cancer/file_shortcourse/2019/icd10/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%AA%20ICD%20%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%8A%202019.pdf.Accessed December 14, 2022 

Vagina: What’s typical, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/vagina/art-20046562.Accessed December 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการมดลูกหย่อน สัญญาณเตือน ภาวะแทรกซ้อน และวิธีรักษา

มดลูกหย่อน อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา