โรคติดเชื้อ ไวรัสซิกา หรือโรคไข้ซิกา เกิดจากเชื้อไวรัสซิกาที่อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่หากหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคนี้ อาจส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ เช่น ทำให้คลอดก่อนกำหนด ทารกตายคลอดหรือเสียชีวิตในครรภ์ (fetal death) รวมถึงทำให้เกิดมาพิการแต่กำเนิด เช่น ภาวะศีรษะเล็ก (microcephaly) สมองพิการรุนแรง
นอกจากแพร่เชื้อผ่านพาหะอย่างยุงลายแล้ว ไวรัสซิกายังสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาโดยเฉพาะ
[embed-health-tool-ovulation]
ไวรัสซิกา ติดต่อจากกิจกรรมทางเพศได้หรือไม่
เชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้จากเพศสัมพันธ์ทั้งทางทวารหนัก ช่องคลอด หรือช่องปาก นอกจากนี้ การใช้อุปกรณ์ในการประกอบกิจกรรมทางเพศ เช่น เซ็กส์ทอย ร่วมกับผู้อื่น ก็สามารถทำให้ไวรัสซิกาแพร่กระจายได้เช่นกัน
ไวรัสซิกาจะอยู่ในน้ำอสุจิหรือของเหลวในอวัยวะสืบพันธ์ุได้นานกว่าของเหลวชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย โดยระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสซิกาในผู้หญิงและผู้ชายอาจแตกต่างกัน และถึงแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่รักแค่คนเดียว ก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสซิกาได้เช่นกัน
ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ป้องกันไวรัสซิกาอย่างไรดี
การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย เช่น การใช้ถุงยาง ถือว่าเป็นวิธีที่สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้มากที่สุด ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคต่อต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ได้อีกด้วย
หากเคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา หรือพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเฝ้าระวังอาการและให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อไวรัสซิกาจริง ๆ
เมื่อหญิงตั้งครรภ์ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง?
สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกา หรือพื้นที่ที่กำลังมีการแพร่ระบาด ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเดินทาง เพื่อจะได้วางแผนป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด วิธีป้องกันเบื้องต้น เช่น ทายากันยุงที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ งดมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์แ และหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยง คุณแม่ท้องต้องไม่ลืมเฝ้าระวังสัญญาณและอาการของโรคไข้ซิก้า เช่น ปวดศีรษะ ปวดข้อต่อ มีผื่น ตาแดง หากสงสัยว่ามีอาการของโรค ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที
แต่ทางที่ดี หากทำได้ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารกในครรภ์
คู่รักควรทำอย่างไรหากวางแผนที่จะมีลูก
สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนมีลูก ควรตระหนักในเรื่องการป้องกันไวรัสซิกาให้มากขึ้น กล่าวคือ หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่า ปลอดเชื้อไวรัสซิกา และมีสุขภาพดีพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนครอบครัว เพื่อให้เข้าใจความเสี่ยง และเพื่อหาทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถทำได้