backup og meta

Pid (Pelvic Inflammatory Disease) คือ โรคอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร

Pid (Pelvic Inflammatory Disease) คือ โรคอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร

Pid คือ โรค อะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่ง Pid ย่อมาจาก Pelvic Inflammatory Disease หรือโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ที่เกิดจากระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงส่วนบนติดเชื้อ ที่ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย ไข้ ตกขาวผิดปกติ  เจ็บปวดช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะลำบาก กลิ่นเหม็นในช่องคลอด ไข้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ฝีที่ท่อรังไข่ ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง

[embed-health-tool-ovulation]

Pid คือ โรค อะไร

Pid คือ โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ที่มักติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ส่วนบนของผู้หญิง เช่น มดลูก รังไข่ ท่อ นำไข่ ส่งผลให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้หญิงอุ้งเชิงกรานอักเสบ ดังนี้

  • มีคู่นอนหลายคน
  • ไม่สวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • การสวนล้างอวัยวะเพศผิดวิธี ที่ทำให้แบคทีเรียชนิดดีภายในช่องคลอดเสียสมดุลนำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • เคยมีประวัติเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน

อาการของ Pid

อาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ อาจมีดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องน้อยหรือรู้สึกเจ็บท้องน้อยเมื่อกด
  • สีตกขาวผิดปกติที่อาจมีสีเหลืองหรือเขียว 
  • ตกขาวไหลออกปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยเฉพาะระหว่างหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • อาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้และอาการหนาวสั่นในบางครั้ง
  • ปวดปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแสบขัด
  • คลื่นไส้อาเจียน

ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีอาการปวดท้องน้อยระดับรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส และตกขาวมีกลิ่นเหม็น

ภาวะแทรกซ้อนของ Pid

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบหากไม่เข้ารับการรักษาและปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำลายเนื้อเยื่อในท่อนำไข่ที่ส่งผลให้เป็นแผลเป็น เกิดพังผืดบริเวณท่อนำไข่ ส่งผลให้ไข่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถเดินทางผ่านท่อนำไข่เพื่อฝังตัวในมดลูกได้จึงอาจเกิดการฝังตัวบริเวณนอกมดลูกแทน สังเกตได้จาก มีอาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์และ เลือดออกมากและอาจเสียเลือดจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • ภาวะมีบุตรยาก โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจสร้างความเสียหายต่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์นำไปสู่การมีบุตรยาก
  • ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานเป็นเวลานานหลานเดือนหรือหลายปีและก่อให้เกิดแผลเป็นบริเวณท่อนำไข่รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ในระบบสืบพันธุ์โดยสามารถสังเกตได้จากอาการเจ็บปวดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ฝีในท่อรังไข่ โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจก่อให้เกิดการสะสมของหนองบริเวณรังไข่และท่อนำไข่ หากไม่รับการรักษาอาจเกิดการติดเชื้อที่ส่งผลอันตรายให้ถึงแก่ชีวิตได้

วิธีการรักษา Pid

วิธีการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในรูปแบบ ฉีด เข้ากล้ามเนื้อ ครั้งเดียว และ รับประทานร่วมด้วยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และติดตามอาการร่วมด้วย เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ปกติแล้วผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นประมาณ 3 วัน หากมีอาการแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้นควรแจ้งคุณหมอให้ทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ หรืออาจรับยาในรูปแบบฉีดผ่านหลอดเลือดดำโดยตรง

นอกจากนี้ในระหว่างที่ใช้ยาปฏิชีวนะควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบจะหายสนิท เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมจากคู่นอนและมีอาการที่แย่ลง

และควรรักษาคู่นอนด้วยในรายที่สงสัยการติดเชื้อหนองในแท้หรือหนองในเทียมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ PID

การป้องกัน Pid 

การป้องกันโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • สอบถามประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคู่นอน
  • ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลียงการสวนล้างในช่องคลอด โดยควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศหรือรอบนอกช่องคลอดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นสูตรอ่อนโยน เพื่อป้องกันแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล อีกทั้งควรซับน้ำด้วยทิชชูบริเวณอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังทวารหนักให้แห้งสนิท เพราะความชื้นอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตแบคทีเรียจนนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • ตรวจสุขภาพประจำปีและเข้ารับการตรวจสุขภาพภายในช่องคลอด เพื่อช่วยตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และรักษาได้อย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pelvic Inflammatory Disease (PID) – CDC Basic Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/pid/stdfact-pid.htm.Accessed January 13, 2023

Pelvic Inflammatory Disease. https://www.nhs.uk/conditions/pelvic-inflammatory-disease-pid/.Accessed January 13, 2023

Pelvic Inflammatory Disease (PID)  https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pelvic-inflammatory-disease/symptoms-causes/syc-20352594.Accessed January 13, 2023

Pelvic Inflammatory Disease (PID)  https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9129-pelvic-inflammatory-disease-pid.Accessed January 13, 2023

What Is Pelvic Inflammatory Disease?https://www.webmd.com/women/guide/what-is-pelvic-inflammatory-disease.Accessed January 13, 2023

Pelvic Inflammatory Disease (PID)  https://www.acog.org/womens-health/faqs/pelvic-inflammatory-disease.Accessed January 13, 2023 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หญิงรักหญิง และวิธีป้องกันโรค

โรคซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ป้องกันได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา