backup og meta

รู้ไว้! หูดหงอนไก่ ตกขาว ควรสังเกตอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/02/2024

    รู้ไว้! หูดหงอนไก่ ตกขาว ควรสังเกตอย่างไร

    หูดหงอนไก่ อาจทำให้ ตกขาว ของผู้หญิงมีความผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นมูกหนา สีขาวข้น เป็นก้อน และหากอาการของโรคมีความรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเขียวหรือสีน้ำตาล อาจมีเลือดปนเล็กน้อยและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการเจ็บปวด คัน แสบร้อน เจ็บปวดขณะปัสสาวะ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์และมีก้อนเนื้อคล้ายหงอนไก่ ดังนั้น ควรสังเกตความผิดปกติของอาการเหล่านี้และเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที

    หูดหงอนไก่ คืออะไร

    หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นการเจริญเติบโตของผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอด ปากมดลูกหรือด้านนอกทวารหนัก โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) สามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสทางผิวหนังโดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนักหรือทางปากโดยไม่ป้องกัน อาจทำให้มีอาการตกขาว เลือดออกเล็กน้อย คัน เลือดออก แสบร้อน มีก้อนเนื้อหยาบลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ

    หูดหงอนไก่ ตกขาว จะมีลักษณะอย่างไร

    หูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงอาจทำให้ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ ดังนี้

  • ตกขาวมากผิดปกติ
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็นมาก
  • ตกขาวเป็นมูกหนา สีขาวข้น เป็นก้อน หรืออาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว
  • ตกขาวสีน้ำตาลหรือมีเลือดออกเป็นสีน้ำตาล และอาจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย
  • อาจมีอาการเจ็บปวด คัน และอักเสบเกิดขึ้นร่วมกับตกขาว
  • เลือดออกผิดปกติระหว่างมีประจำเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • แสบร้อนที่อวัยวะเพศ
  • เจ็บปวดขณะปัสสาวะ
  • หากพบว่าอาการตกขาวรุนแรงขึ้น เช่น มีสีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาลหรือมีเลือดปนและมีกลิ่นเหม็นรุนแรงเกิดขึ้นร่วมกับอาการเจ็บปวด คัน แสบร้อน รวมถึงมีก้อนเนื้อหยาบลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำที่อวัยวะเพศ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

    การรักษาหูดหงอนไก่ ตกขาวผิดปกติ

    คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาหูดหงอนไก่ ดังนี้

    • ยาสำหรับใช้ทาภายนอก เช่น ทิงเจอร์โพโดฟิลลิน 25% (Tincture Podophyllin 25%) อิมิควิโมด 5% (Imiquimod 5%) โดยใช้ทาบริเวณที่เป็นหูดหงอนไก่ประมาณ 16 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น

    กรณีที่หูดหงอนไก่มีขนาดใหญ่และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสำหรับใช้ทาภายนอก คุณหมออาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา ดังนี้

    • การจี้ด้วยความเย็น โดยคุณหมอจะใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็น 1,860 องศาเซลเซียส จี้บริเวณที่เป็นหูดหงอนไก่เพื่อทำลายหูด ซึ่งอาจต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งจึงจะหายขาด
    • การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ เลเซอร์ เป็นการกำจัดหูดด้วยกระแสไฟฟ้าหรือใช้เลเซอร์ทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กภายในหูด ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหูดได้
    • การรักษาด้วยการผ่าตัด คุณหมออาจผ่าตัดหูด หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ

    การป้องกัน หูดหงอนไก่ ตกขาว ผิดปกติ

    สำหรับวิธีการป้องกันหูดหงอนไก่ในผู้หญิงและความผิดปกติของตกขาว อาจทำได้ดังนี้

    • สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้แต่ไม่ 100% เนื่องจากบรืเวณที่เป็นหูดอาจจะอยู่บริเวณนอกถุงยางอนามัย
    • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อจากผู้อื่นและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
    • เข้ารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โดยควรเริ่มเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หรืออายุ 11-12 ปี และไม่ควรเกิน 45 ปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีทุกชนิดที่อาจก่อให้เกิดหูดหงอนไก่หรือมะเร็งบางชนิด
    • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหากมีเพศสัมพันธ์บ่อยควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 6 เดือน
    • หากพบว่าตนเองเป็นหูดหงอนไก่ ตกขาวผิดปกติ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ควรบอกคู่นอน เพื่อให้เข้ารับการตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา