backup og meta

โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อโปรโตซัว อาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อโปรโตซัว อาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษา

    โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อ โปรโตซัว (Protozoa) ชื่อว่า ทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่าง รวมไปถึงส่วนนอกของอวัยวะเพศ ผู้หญิงที่ติดเชื้ออาจเกิดการระคายเคือง คัน ตกขาวมีกลิ่น และเจ็บเมื่อปัสสาวะ ส่วนในผู้ชายมักไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตาม การสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์อาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคพยาธิในช่องคลอดได้ ทั้งนี้ หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคพยาธิในช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาให้หายขาดเพื่อสุขภาพของตัวเองและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคไปยังบุคคลอื่น

    โรคพยาธิในช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว คืออะไร

    โปรโตซัวเป็นปรสิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามธรรมชาติทั่วไป เช่น แหล่งน้ำ ดิน บริเวณที่ชื้นแฉะ และบนร่างกายของสัตว์บก เช่น แมว สุนัข เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสเชื้อหรือการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ในคนได้ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคมาลาเรีย รวมไปถึงโรคพยาธิในช่องคลอด

    โรคพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่าทริโคโมแนส วาจินาลิส มีระยะฟักตัวของโรคก่อนแสดงอาการประมาณ 10-14 วัน โดยแหล่งของเชื้ออยู่ในอสุจิ ตกขาวหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด เชื้อนี้ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการร่วมเพศระหว่างชายและหญิง หญิงและหญิง รวมไปถึงชายและชาย ปรสิตชนิดนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง สำหรับผู้หญิงจะเป็นการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก และท่อปัสสาวะ สำหรับผู้ชายจะเป็นการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะด้านในขององคชาต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้มีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในร่างกายนานหลายเดือนไปจนถึงหลายปี

    โรคพยาธิในช่องคลอดอาจทำให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ระคายเคือง และอาจทำให้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เข้าสู่ร่างกายหรือส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การติดเชื้อโปรโตซัวยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคพยาธิในช่องคลอด เช่น ภาวะคลอดก่อนกำเนิด ภาวะทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแม้กระทั่งการส่งต่อโรคนี้ให้กับทารกเมื่อทารกเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อ โปรโตซัว

    ปัจจัยที่อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดจากเชื้อโปรโตซัว มีดังนี้

    • มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
    • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
    • เคยมีประวัติเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดมาก่อน
    • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

    อาการเมื่อติดเชื้อ โปรโตซัว

    อาการเมื่อติดเชื้อโปรโตซัว อาจแบ่งได้ดังนี้

    อาการที่พบในผู้หญิง

    • มีตกขาวปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นสีใส สีขาว สีเทา สีเหลือง หรือสีเขียว และอาจมีกลิ่น
    • รู้สึกแสบร้อน และคันบริเวณอวัยวะเพศ
    • รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์หรือระหว่างปัสสาวะ
    • อวัยวะเพศบวมแดง
    • รู้สึกไม่สบายท้องส่วนล่าง

    อาการที่พบในผู้ชาย

    การติดเชื้อโปรโตซัวมักไม่แสดงอาการในผู้ชาย แต่หากมีอาการ อาจมีดังนี้

    • รู้สึกคันหรือระคายเคืองภายในองคชาต
    • รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะหรือหลังการหลั่งน้ำอสุจิ
    • มีมูกเหลวไหลออกมาจากองคชาต บางครั้งอาจมีหนองปนอยู่ด้วย

    วิธีรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด

    คุณหมออาจรักษาโรคพยาธิในช่องคลอดด้วยการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) แบบรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อ ควรรับประทานยาติดต่อกันจนหมดแผง เมื่ออาการทุเลาและหายไปแล้ว ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปอีกประมาณ 7-10 วัน และควรพาคู่นอนไปตรวจและรักษาให้หายด้วย เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกและลดการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ คุณหมออาจตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส เนื่องจากผู้เป็นโรคพยาธิในช่องคลอดอาจเสี่ยงเกิดโรคเหล่านี้ด้วย

    วิธีป้องกันการติดเชื้อ โปรโตซัว

    โรคพยาธิในช่องคลอด อาจป้องกันได้ดังนี้

    • รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศทุกครั้งหลังการขับถ่าย ล้างให้สะอาดและซับให้แห้งด้วยทิชชูสะอาด
    • ดูแลความสะอาดของเสื้อผ้าที่สวมใส่
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวรวมถึงเซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น หลังใช้งาน ควรล้างให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ก่อนเก็บรักษาในที่ที่ไม่อับชื้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา