backup og meta

โรคหอบหืดส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    โรคหอบหืดส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

    โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้หลอดลมตีบและหายใจลำบากเมื่อเจอสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นควัน สารก่อภูมิแพ้ โรคหอบหืดนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน การออกกำลังกาย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการป้องกันไม่ให้หอบหืดกำเริบ และวิธีรับมือเมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อการรับมืออย่างเหมาะสม

    โรคหอบหืดกับเพศสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร

    ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดจำนวนไม่น้อยเผยว่า โรคหอบหืดส่งผลกระทบกับชีวิตเซ็กส์ของพวกเขา  เนื่องจากบางคนเกิดอาการหอบหืดกำเริบในช่วงที่กำลังเล้าโลมหรือปลุกอารมณ์ เพราะมัวแต่จดจ่อกับการมีเซ็กส์มากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหากับระบบหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจมีเสียงหวีด

    ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การทำกิจกรรมทางกายทุกประเภท สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบได้ทั้งสิ้น ในความเป็นจริง การมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้พลังงานพอๆ กับการเดินเร็ว สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดบางคน แค่ทำกิจกรรมในระดับนี้ ก็กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบ เช่น หายใจไม่ทัน เจ็บแน่นหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงหวีด ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะหลอดลมตีบจากการออกกำลังกาย (exercise induced bronchoconstriction) หากปล่อยให้อาการรุนแรง หรือไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน จนเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้

    ผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า อาการหอบหืดจากการทำกิจกรรมทางเพศส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นหลังจากทำกิจกรรมเสร็จประมาณ 5-8 นาที จะไม่ค่อยเกิดในช่วงที่กำลังทำกิจกรรม แต่หากหอบหืดกำเริบระหว่างที่กำลังทำกิจกรรม นั่นอาจเป็นเพราะจัดการกับโรคหอบหืดของตัวเองไม่ดีพอ และควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้ยาเป็นประจำทุกวัน การใช้ยาสูดพ่น

    แต่หากอาการหอบหืด กำเริบแค่ในช่วงมีเพศสัมพันธ์และไม่เป็นในช่วงอื่น นั่นอาจเป็นเพราะมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญหาสุขภาพหัวใจ ภูมิแพ้ลาเท็กซ์หรือแพ้ยางธรรมชาติ บาดแผลทางจิตใจ ความวิตกกังวล ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด

    การป้องกันไม่ให้โรคหอบหืดกำเริบ

    ห้องนอนเปรียบเสมือนคลังสะสมสิ่งกระตุ้นหอบหืด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่รบกวนการนอนหลับ แต่ยังอาจทำให้กิจกรรมในห้องนอนอย่าง “เซ็กส์” มีปัญหาได้ด้วย

    หากไม่อยากให้เซ็กส์สะดุดเพราะหอบหืดกำเริบ ก็ควรลดหรือกำจัดสิ่งกระตุ้นหอบหืดในห้องนอนให้หมดไป ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการใช้หมอน ผ้าห่ม หรือหมอนข้างที่ทำจากขนสัตว์ เช่น ขนเป็ด ขนห่าน และไม่ควรปูพรมในห้องนอน หรือหากต้องการปูพรมจริงๆ ควรทำความสะอาด และดูดฝุ่นพรมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
    • หากใช้เตียงนอนที่บริเวณหัวเตียงบุผ้าหรือฟองน้ำ ควรเปลี่ยนมาเป็นเตียงที่มีหัวนอนเป็นไม้ พลาสติก หรือเหล็กเรียบๆ แทน เพื่อไม่ให้กักเก็บฝุ่น
    • เลือกใช้เครื่องนอนชนิดป้องกันไรฝุ่น และฝุ่นละอองต่างๆ หากเป็นแบบมีซิปรูด ควรใช้เทปกาวปิดทับบริเวณซิปเอาไว้ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองเข้าไปในเครื่องนอนได้
    • ไม่ควรใช้ผ้าหรือขนสัตว์คลุมเฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอน โซฟา หรือเก้าอี้
    • หากอาศัยอยู่กับเด็ก ไม่ควรให้เด็กเอาของเล่นเข้าห้องนอน และควรทำความสะอาดของเล่นเด็กด้วยน้ำร้อนเป็นประจำทุกอาทิตย์
    • ทำความสะอาดห้องนอนเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และควรซักเครื่องนอน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกผ้านวมทุกอาทิตย์
    • เปลี่ยนที่นอนทุกๆ 10 ปี และหมอนทุกๆ 2 ปี

    นอกจากจะกำจัดฝุ่น ซึ่งเป็นตัวการหลักที่ทำให้หอบหืดกำเริบแล้ว ควรกำจัดสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้อื่นๆ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อรา แมลงสาบ หนู รวมถึงควรควบคุมอุณหภูมิห้องนอนให้เหมาะสม ให้อากาศถ่ายเทบ้าง อย่าปล่อยให้ห้องนอนอับชื้นเกินไป เพราะความชื้นในอากาศสูงอาจทำให้อาการหอบหืดแย่ลงได้ หรือหากใครเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอน ถ้าทำได้ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนนอกบ้าน และไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน หรือในห้องนอนโดยเด็ดขาด

    ควรทำอย่างไรหากหอบหืดกำเริบระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    การมีเซ็กส์ ก็สามารถกระตุ้นให้อาการหอบหืดกำเริบได้เช่นเดียวกับการออกกำลังกายทุกประเภท หากกำลังอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วหอบหืดดันกำเริบ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ อย่าตื่นตระหนก จากนั้นจึงค่อย ๆ รับมือกับอาการหอบหืด ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    การเตรียมตัวรับมือกับอาการหอบหืดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อาจทำได้ดังนี้

  • ลุกขึ้นนั่งหลังตรง และพยายามสงบสติอารมณ์ให้ได้
  • บรรเทาอาการด้วยยาพ่นสูด โดยสูดยาพ่น 1 ครั้ง ทุกๆ 30-60 วินาที
  • หากสูดยาพ่นมากกว่า 10 ครั้งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที
  • ขณะรอการช่วยเหลือฉุกเฉิน หากผ่านไปแล้วเกิน 15 นาที ให้ทำขั้นตอนที่ 2 ซ้ำอีกครั้ง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา