backup og meta

เริม รักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    เริม รักษาอย่างไร

    เริม คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริมที่ร่างกายสามารถได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน ช้อน ส้อม ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 12 วัน อาจส่งผลให้มีอาการคล้ายไข้หวัด มีแผลบริเวณอวัยวะเพศและในช่องปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ควรศึกษาว่า เริม รักษาอย่างไร และรักษาทันทีที่พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติดังกล่าว

    เริม คืออะไร มีอาการอย่างไร

    เริม คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและสามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

    1. ไวรัสเริม HSV-1

    เป็นไวรัสที่พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กและอาจส่งผลให้เชื้ออยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ไวรัสเริม HSV-1 ส่งผลให้เป็นโรคเริมในช่องปาก ผ่านน้ำลาย แผลที่ได้รับการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้หากมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก

    อาการของไวรัสเริม HSV-1

    อาการของไวรัสเริม HSV-1 อาจสังเกตได้ดังนี้

    • รู้สึกแสบร้อนบริเวณรอบ ๆ ปาก
    • อาการคัน รอยแดง บวม 
    • ตุ่มพุพองในช่องปาก หรือรอบริมฝีปาก
    • แผลในช่องปาก หลังจากตุ่มพุพองแตก
    • แผลเป็นสะเก็ดแข็ง และอาจหายเป็นปกติประมาณ 4-6 วัน

    หากติดเชื้อไวรัสเริม HSV-1 บริเวณอวัยวะเพศ อาจส่งผลให้มีตุ่มพองบริเวณทวารหนัก มีแผลที่อวัยวะเพศ 

    2. ไวรัสเริม HSV-2

    เป็นเชื้อไวรัสที่มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจแพร่กระจายต่อไปยังอีกบุคคลหนึ่งด้วยการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง 

    อาการของไวรัสเริม HSV-2

    ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเริม HSV-2 บางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้อาจเกิดการแพร่กระจายต่อไปได้  แต่หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการรักษาในทันที

    • ผู้หญิงอาจมีอาการคัน ตุ่มแดง แผล สะเก็ดแผลเริม บริเวณปาก ก้น ต้นขา อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก
    • ผู้ชายอาจมีแผล ตุ่มแดง เจ็บปวด อาการคัน บริเวณองคชาต ถุงอัณฑะ ก้น ทวารหนัก ต้นขา ท่อปัสสาวะ และในช่องปาก

    ไวรัสเริมทั้ง 2 ชนิด อาจส่งผลให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัสเริม และก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างโรคไข้สมองอักเสบ โรคไขข้ออักเสบ นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเริมก็อาจแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังทารกในระหว่างการคลอดบุตรทางช่องคลอดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ควรตรวจสุขภาพอย่างละเอียดและเข้ารับการรักษาทันที

    เริม รักษา อย่างไร 

    ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเริมให้หายขาด แต่อาจมีวิธีรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ลดโอกาสการแพร่เชื้อ ป้องกันการเกิดซ้ำ โดยแบ่งออกตามประเภทของไวรัสเริม ดังนี้

    • ไวรัสเริม HSV-1 คุณหมออาจให้ยาต้านไวรัส เช่น  ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ที่มีส่วนช่วยลดอาการรุนแรงของการติดเชื้อ แต่ไม่อาจรักษาการติดเชื้อให้หายขาดได้
    • ไวรัสเริม HSV-2 อาจรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) อะไซโคลเวียร์  แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) และ เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HSV-2 เพื่อช่วยบรรเทาอาการรุนแรงของเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อให้หายขาดได้เช่นเดียวกับการรักษาไวรัสเริม HSV-1

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเริม 

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็น เริม อาจทำได้ดังนี้

  • ปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำการดูแลตนเอง และการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสเริมไปยังบุคคลอื่น
  • พูดคุยหรือบอกให้คู่นอนตนเองทราบเกี่ยวกับโรคเริมที่เป็นหรือรักษาอยู่
  • รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู
  • งดการจูบกับบุคลอื่นเพราะเชื้อไวรัสเริมสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลายได้
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ทุกช่องทาง ถึงแม้ว่าจะใส่ถุงยางอนามัยแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสเริม เพราะบางครั้งไวรัสเริมอาจอยู่ภายนอกถุงยางส่งผลให้ยังแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้
  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเริม ควรเข้ารับการรักษาทันที
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา