backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โลน อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

โลน อาการ สาเหตุ การรักษา

โลน เป็นแมลงขนาดเล็กกลุ่มเดียวกับเหา อาศัยอยู่ตามร่างกายบริเวณที่มีขน เช่น คิ้ว หนังศีรษะ รักแร้ หนวด ขนตา แต่อาจพบได้มากที่สุดบริเวณอวัยวะเพศและรอบทวารหนัก โลนมักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ อาการคันอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีการรักษา และการป้องกันเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัย

คำจำกัดความ

โลน คืออะไร

โลน คือ แมลงที่มีขนาดไม่เกิน 1.6 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ตามขนบนร่างกายโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ มักกัดกินเลือดมนุษย์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้เมื่อถูกกัด โลนที่อาศัยอยู่บนร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. ไข่โลน มีลักษณะเป็นวงรี สีเหลือง หรือสีขาว ส่วนใหญ่มักติดอยู่ตามขน ซึ่งอาจสังเกตได้ยาก ไข่โลนอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 6-10 วันในการฟักออกมาเป็นตัว
  2. ตัวอ่อน หลังจากออกมาจากไข่ โลนอาจมีขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามขนบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการเจริญเติบโตเป็นโลนเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ต่อได้
  3. โลนตัวเต็มวัย มีลักษณะเป็นสีน้ำตาล เทา ขาว ตัวเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยสามารถมองผ่านแว่นขยายได้ หากโลนตัวเต็มวัยตกลงบนพื้นหรือถูกกำจัดออกจากร่างกายส่วนใหญ่มักจะตายเองภายใน 1-2 วัน

อาการ

อาการของโลน

อาการที่พบบ่อยเมื่อติดโลน คือ มีจุดแดง คัน ซึ่งอาการคันเกิดจากการแพ้น้ำลายของโลน อาจต้องใช้เวลา 1-3 สัปดาห์กว่าอาการคันจะปรากฏ และอาการมักแย่ลงในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการเหล่านี้รวมด้วย

  • บริเวณอวัยวะเพศเป็นแผลและมีรอยขีดข่วนเล็กน้อย
  • ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีผงสีดำติดบริเวณกางเกงชั้นใน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นตัวโลนที่ติดออกมา
  • มีจุดสีน้ำเงินหรือจุดเลือดติดบนกางเกงชั้นใน และบนผิวหนัง ซึ่งเป็นจุดที่อาจถูกตัวโลนกัด โดยเฉพาะบริเวณต้นขา ท้องส่วนล่าง
  • มีเปลือกไข่โลนที่อาจติดอยู่บริเวณหนังศีรษะ เส้นผม

สาเหตุ

สาเหตุของโลน

ส่วนใหญ่โลนมักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ ร่วมกันจากบุคคลที่มีโลน เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าขนหนู สาเหตุที่อาจพบได้ยาก คือ การแพร่กระจายผ่านการนั่งบนชักโครก เพราะโลนไม่มีเท้าที่สาารถยึดเกาะจับกับสิ่งของผิวเรียบ และอาจตายเองได้ภายใน 1-2 วัน หากหลุดออกจากร่างกายของมนุษย์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโลน

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น มีดังนี้

  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
  • ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู
  • การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโลน

    คุณหมออาจวินิจฉัยขอตรวจดูบริเวณที่มีอาการคันเพื่อหาตัวโลน ไข่โลน รอยกัดของโลนโดยรอบ ด้วยเครื่องมือตรวจสอบผิวหนังที่เรียกว่า Dermatoscope และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย

    การรักษาโลน

    หากโลชั่น หรือแชมพูที่จำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งมีส่วนผสมของเพอร์เมทริน (Permethrin) หรือไพรีทริน (Pyrethrins) 1% ไม่สามารถฆ่าโลนได้ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่แรงกว่านั้น ซึ่งได้แก่

    • มาลาไทออน (Malathion) เป็นยาในรูปแบบโลชั่นที่คุณหมออาจให้ทาบริเวณเกิดอาการและล้างออกหลังจากครบ 8-12 ชั่วโมง
    • ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยาชนิดรับประทาน ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อปรสิต พยาธิ

    สำหรับผู้ที่มีอาการโลนบริเวณขนตา คิ้ว อาจรักษาด้วยการใช้ปิโตรเลียมเจลทาในตอนกลางคืน และล้างออกในตอนเช้า การรักษานี้อาจต้องทำซ้ำและใช้ระยะเวลารักษาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หากใช้วิธีการรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ นอกจากนี้ควรเข้ารับการตรวจบริเวณที่มีขนเป็นประจำ เพราะโลนอาจเคลื่อนตัวออกจากบริเวณที่ทำการรักษาได้

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโลน

    การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโลน อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะถึงแม้ว่าจะใส่ถุงยางอนามัยก็อาจเสี่ยงติดเชื้อโลนได้ หากโลนอาศัยอยู่นอกถุงยาง
    • ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือสิ่งของอื่น ๆ ร่วมกัน
    • รักษาสุขอนามัย ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ผ้าห่มเป็นประจำ ในอุณหภูมิ 54 องศาเซลเซียส และตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อ
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่กำจัดตัวโลน
    • เก็บของใช้รอบตัว โดยเฉพาะเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ที่ไม่ได้ใช้ไว้ในกล่องหรือตู้ที่ปิดสนิท

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา