backup og meta

10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย มีอะไรบ้าง

    วัยทองในผู้ชาย เป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายอยู่ในช่วงอายุ 40 ปีตอนปลายหรือ 50 ปีตอนต้น มีสาเหตุจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในร่างกายที่ลดลง ทั้งนี้ 10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย ได้แก่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง หน้าอกใหญ่ขึ้น เป็นต้น

    วัยทองในผู้ชายคืออะไร

    วัยทองในผู้ชาย (Male Menopause หรือ Andropause) อาจพบได้ในผู้ชายอายุ 40 ปีตอนปลายถึง 50 ปีตอนต้น โดยเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายลดลง

    อย่างไรก็ตาม การลดลงเทสโทสเตอโรนแตกต่างจากการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง โดยในผู้ชาย เทสโทสเตอโรนจะลดลงเรื่อย ๆ ในอัตราประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์/ปี จนเหลือเพียง 10-25 เปอร์เซ็นต์จากระดับปกติ ส่วนในผู้หญิง ฮอร์โมนเพศจะลดลงทีละน้อยจนหมดไป

    10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย มีอะไรบ้าง

    10 สัญญาณที่บอกว่าผู้ชายเข้าสู่วัยทองแล้ว ได้แก่

    • ความต้องการทางเพศลดลง
    • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า
    • ขาดสมาธิ ความทรงจำแย่ลง
    • ขาดพลังงาน หมดความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ
    • ไขมันเปลี่ยนไป ส่งผลให้หน้าท้องและหน้าอกใหญ่ขึ้น
    • มวลกล้ามเนื้อลดลง รู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าเดิม
    • ขาดความมั่นใจในตัวเอง
    • ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
    • นอนหลับง่ายหรือยากขึ้น

    ปกติแล้ว วัยทองในผู้ชายมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และบางครั้ง อาจไม่มีอาการใด ๆ

    นอกจากนี้ อาการแบบเดียวกับวัยทองในผู้ชาย อย่างอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศที่ลดลง ยังพบได้จากสาเหตุอื่นด้วย อาทิ ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาสุขภาพจิต โรคต่าง ๆ

    ทั้งนี้ ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหากพบสัญญาณของวัยทอง

    การรักษา วัยทองในผู้ชาย

    วัยทองในผู้ชายอาจไม่ต้องรักษา หากไม่สร้างความลำบากหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

    โดยทั่วไป หากตรวจพบว่าเป็นวัยทอง คุณหมอมักแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการวัยทอง

    ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ชายวัยทองที่เครียดหรือวิตกกังวล คุณหมอจะรักษาด้วยการจ่ายยาให้รับประทาน หรือพูดคุยเพื่อบำบัดความคิดและพฤติกรรม

    นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้รับเทสโทสเตอโรนทดแทน ในรูปแบบของเจลหรือยาฉีด เพื่อทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น

    อย่างไรก็ตาม เทสโทสเตอโรนทดแทนอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีภาวะหัวใจวายได้ ดังนั้น ก่อนรับการรักษาด้วยวิธีนี้ จึงควรปรึกษาคุณหมอและตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพื่อการตัดสินใจต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา