backup og meta

Anal sex คืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/10/2023

    Anal sex คืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

    การร่วมเพศทางทวารหนัก (anal sex) หมายถึงการสอดใส่องคชาต นิ้ว เซ็กส์ทอย หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เข้าไปในทวารหนักของคู่นอนเพื่อสร้างความสุขทางเพศให้อีกฝ่าย จัดเป็นกิจกรรมทางเพศที่พบได้ทั่วไปในหมู่ชายรักชาย และในชายหญิงบางคู่

    อย่างไรก็ตาม การร่วมเพศทางทวารหนักอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อาการบาดเจ็บ โรคต่าง ๆ มากกว่าการร่วมเพศทางช่องคลอด หรือการร่วมเพศทางปาก การป้องกันตัวเองทั้งก่อนและระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก

    ข้อดีของ anal sex

    การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจมีประโยชน์ดังนี้

    • ความสุขทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักสามารถถึงจุดสุดยอดได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์แบบอื่น ๆ
    • สร้างสีสันให้ชีวิต การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตคู่
    • ช่วยกระชับสัมพันธ์ สำหรับคู่รักบางคู่ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้
    • ประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น ลดความเครียด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ทำให้นอนหลับสบาย
    • ป้องกันการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ควรสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ

    ข้อเสียของ anal sex

    การร่วมเพศทางทวารหนักอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    การบาดเจ็บ

    การร่วมเพศทางทวารหนักอาจทำให้เสี่ยงบาดเจ็บมากกว่าการร่วมเพศทางช่องคลอดหรือทางปาก เนื่องจากเยื่อบุทวารหนักบอบบาง จึงอาจฉีกขาดได้ง่ายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งทวารหนักไม่มีสารหล่อลื่นเหมือนช่องคลอด จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้ทวารหนักฉีกขาดได้ง่ายกว่า

    หนึ่งในอาการบาดเจ็บที่อาจพบได้จากการร่วมเพศทางทวารหนัก คือ แผลปริที่ขอบทวารหนัก พบได้บริเวณเยื่อบุทวารหนัก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บทวารหนัก มีเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ เป็นต้น

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    การร่วมเพศทางทวารหนักโดยไม่ป้องกัน อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพราะโดยปกติแล้ว ทวารหนักจะมีเชื้อแบคทีเรียมากกว่าช่องคลอด หากเกิดแผลฉีกขาดจากการร่วมเพศ อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการร่วมเพศทางทวารหนัก เช่น

    • การติดเชื้อเอชไอวี อาจทำให้เป็นไข้ ปวดศีรษะ ท้องเสีย หนาวสั่น ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองบวม หากไม่รีบรักษา อาจทำให้อาการของโรครุนแรงถึงขั้นเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ ที่อาจเกิดโรคต่าง ๆ หรือภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น
    • โรคหนองใน หรือหนองในแท้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจทำให้ฝ่ายรับติดเชื้อที่ลำไส้ตรงได้ โดยผู้ป่วยจะมีสารคัดหลั่งคล้ายหนองไหลออกมาจากรูทวาร มีอาการคันบริเวณทวารหนัก เป็นต้น
    • โรคหนองในเทียม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ที่บริเวณอวัยวะเพศหรือลำไส้ตรง ที่เรียกว่า หนองในเทียม เนื่องจากโรคนี้มีอาการหลายอย่างคล้ายโรคหนองในหรือหนองในแท้ หากติดเชื้อที่ลำไส้ตรง ผู้ป่วยจะมีหนองและเลือดไหลออกมาจากทวารหนัก รวมถึงมีอาการเจ็บปวดที่ทวารหนักด้วย
    • โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ เช่น แผลฉีกขาดที่ทวารหนัก อาการที่พบได้ทั่วไปของซิฟิลิส คือ มีแผลพุพองและผื่นตามลำตัว ซึ่งอาจหายเองได้ แต่หากเป็นโรคซิฟิลิสนาน ๆ โดยไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น การบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาท หัวใจ
    • โรคหูดอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ มีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อสีน้ำตาล บางครั้งอาจเกิดหูดพร้อมกันจำนวนมาก โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papilloma virus หรือ HPV) ซึ่งแพร่โดยการสัมผัสหูดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ พบมากบริเวณอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก  การติดเชื้อ HPV นอกจากทำให้เป็นหูดแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทวารหนักด้วย อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

    มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอย่างไรให้ปลอดภัย

    การปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้

    • ทำความสะอาดทวารหนักทุกครั้งทั้งก่อนและหลังร่วมเพศ ด้วยการใช้อุปกรณ์สวนทวาร (Rectal Douche) และสบู่อ่อน ๆ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้งาน
    • ล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้น หากต้องการร่วมเพศด้วยนิ้ว ควรล้างมือ ฟอกสบู่ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการติดเชื้อ
    • ใช้เซ็กส์ทอยที่เหมาะสม ขนาดไม่ใหญ่เกินไป และทำความสะอาดได้ง่าย
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการโรคติดต่อต่าง ๆ ในกรณีของฝ่ายรับ สามารถใช้ถุงยางอนามัยสตรี (Internal Condom) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคได้เช่นกัน
    • ใช้สารหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บหรือเกิดแผลฉีกขาด โดยควรใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นส่วนผสม ไม่ใช่น้ำมันหรือโลชั่น เนื่องจากอาจทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย
    • ค่อย ๆ สอดใส่ ฝ่ายรุกควรสอดใส่ช้า ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดของฝ่ายรับผ่อนคลาย ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ หากคู่นอนรู้สึกเจ็บ ควรหยุดมีเพศสัมพันธ์ทันที
    • เปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้ง ในกรณีของคู่ชายหญิง ซึ่งต้องการร่วมเพศทางช่องคลอด ควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยหลังจากร่วมเพศทางทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • รีบไปพบคุณหมอ หากพบอาการบาดเจ็บหลังมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือพบอาการต้องสงสัยของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น มีแผลพุพอง มีหนองไหลจากอวัยวะเพศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา