BPH คือ โรคต่อมลูกหมากโต พบได้บ่อยในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากต่อมลูกหมากที่หุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้นเจริญเติบโตผิดปกติ เมื่อต่อมลูกหมากขยายตัวมากเกินไป อาจไปเบียดท่อปัสสาวะและทำให้การไหลของปัสสาวะติดขัด ส่งผลให้มีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะไหลอ่อน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยทั่วไป คุณหมอจะรักษาโรคนี้ด้วยการใช้ยารักษาและการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่เบียดท่อปัสสาวะออกไป
[embed-health-tool-bmi]
BPH คือ อะไร
Benign Prostatic Hyperplasia หรือ BPH คือ โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงเป็นโรคที่ไม่มีวิธีป้องกัน ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะโดยจะล้อมรอบท่อปัสสาวะที่ลำเลียงปัสสาวะและน้ำอสุจิออกจากองคชาต แต่บางครั้งเมื่อต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น อาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ บีบให้ท่อปัสสสาวะแคบลงจนปัสสาวะไหลออกไม่สะดวก ส่งผลให้มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไหลอ่อน ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นในตอนกลางคืน ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะจนหมดในครั้งเดียวได้
อย่างไรก็ตาม BPH ไม่ใช่สัญญาณของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) และไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แม้ว่าจะมีอาการของโรคใกล้เคียงกัน
สาเหตุของ BPH คือ อะไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า สาเหตุของ BPH คือ อะไร แต่อาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามวัยที่มากขึ้น ตามปกติขนาดอวัยวะเพศชายจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2 เท่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และอาจขยายตัวเพิ่มอีกในช่วงอายุประมาณ 25 ปี และอาจขยายตัวไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต เมื่ออายุประมาณ 50 ปี ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่งจะลดลง ในขณะที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเท่าเดิม จึงอาจทำให้ผู้ชายบางคนมีภาวะต่อมลูกหมากโตกว่าปกติ
นอกจากนี้ โรคต่อมลูกหมากโตก็อาจเกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) เพิ่มขึ้น โดยฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนในการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนตั้งต้น และร่างกายของผู้ชายจะยังคงผลิตฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้อายุจะมากขึ้นและมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลงก็ตาม จึงอาจทำให้ต่อมลูกหมากโตผิดปกติได้
อาการของ BPH
BPH อาจทำให้มีอาการต่อไปนี้
- ปัสสาวะแผ่ว ไหลไม่แรงเหมือนปกติ
- รู้สึกต้องไปถ่ายปัสสาวะกะทันหัน
- ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ ตอนกลางคืน
- ปวดอวัยวะเพศหลังการหลั่งหรือหลังถ่ายปัสสาวะ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะติดขัด
- ปัสสาวะเปลี่ยนสี
- ปัสสาวะมีกลิ่น
วิธีรักษา BPH
การรักษา BPH จะมุ่งเน้นในการรักษาตามอาการเป็นหลัก ในกรณีที่โรค BPH ไม่รุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้เฝ้าดูอาการไปเรื่อย ๆ และอาจนัดมาตรวจดูอาการเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าอาการไม่แย่ลงไปกว่าเดิม แต่หากคุณหมอพิจารณาว่าควรรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อรักษา อาจให้ใช้ยาต่อไปนี้
- ยาคลายกล้ามเนื้อที่ช่วยให้ต่อมลูกหมากคลายตัว เช่น แทมซูโลซิน (Tamsulosin) เทราโซซิน (Terazosin) ดอกซาโซซิน (Doxazosin) อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) ไซโลโดซิน (Silodosin) เพื่อลดแรงดันที่เบียดท่อปัสสาวะ จนทำให้ถ่ายปัสสาวะผิดปกติ
- สำหรับผู้ที่มีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งผลิตฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน เช่น ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) ซึ่งอาจลดการเจริญเติบโตผิดปกติของต่อมลูกหมากได้
นอกจากนี้คุณหมอยังอาจให้ยาหลายขนานเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโตและช่วยให้การไหลของปัสสาวะเป็นปกติ เช่น ให้ใช้ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) ร่วมกับแทมซูโลซิน โดยทั่วไปอาจใช้เวลารักษาประมาณ 1-8 สัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้น
การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโรค BPH หรือต่อมลูกหมากโตในระดับรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การผ่าตัดที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีส่องกล้อง (Transurethral Resection of the Prostate หรือ TUR-P) เป็นการตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากบางส่วนหรือทั้งหมดออกเพื่อให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อปัสสาวะออกมาได้สะดวกขึ้น
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate หรือ TUIP) เป็นการกรีดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากประมาณ 1-2 แผล เพื่อขยายท่อปัสสาวะและเปิดทางให้ปัสสาวะไหลได้ง่ายขึ้น
- การจี้ต่อมลูกหมากด้วยไฟฟ้า (Transurethral electrovaporization) เป็นการใช้ไฟฟ้าจี้ทำลายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่ขยายใหญ่ผิดปกติจนอุดกั้นและเบียดท่อปัสสาวะให้หายไป ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านได้ดีขึ้น
- การจี้ต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์กรีนไลท์ (Photo-Selective Vaporization of Prostate หรือ Green Light PVP) เป็นนวัตกรรมการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการยิงแสงเลเซอร์เพื่อตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากบางส่วนหรือทั้งหมดออก เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาที่เรียกว่าการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery หรือ MIS) เช่น การรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะเทียมเพื่อดันต่อมลูกหมากออกจากท่อปัสสาวะ (Prostatic urethral lift) และการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water vapor therapy) ที่ใช้น้ำอุณหภูมิสูงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่โตผิดปกติ
การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเป็นวิธีรักษาเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อโดยรอบน้อยกว่า มีผลข้างเคียงน้อย โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ การถ่ายปัสสาวะมากกว่าปกติ การระคายเคืองบริเวณต่อมลูกหมากขณะที่รอแผลหาย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านภายในวันที่ผ่าตัดได้เลย อาจใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 วันก็สามารถกลับมาทำกิจกรรมในชีวิตได้ตามปกติ และอาการที่เกิดจากต่อมลูกหมากโตก่อนหน้านี้มักจะหายไปภายใน 3-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ วิธีนี้ยังเป็นเทคนิคใหม่ที่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพในระยะยาวหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ปวดท้องส่วนล่างหรือองคชาตขณะถ่ายปัสสาวะ
- ถ่ายปัสสาวะลำบากหรือถ่ายปัสสาวะไม่ออกใช้เวลาในการปัสสาวะนาน ลำของปัสสาวะอ่อนแรง หรือปัสสาวะเป็นหยดๆ
- ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- ตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะบ่อยขึ้น
- มีไข้หรือหนาวสั่น
- มีเลือดออกปนมาในปัสสาวะ