backup og meta

ต่อมลูกหมากมีความสำคัญอย่างไร เรื่องของอวัยวะภายในที่ผู้ชายควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    ต่อมลูกหมากมีความสำคัญอย่างไร เรื่องของอวัยวะภายในที่ผู้ชายควรรู้

    ต่อมลูกหมากมีความสำคัญอย่างไร? ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะภายในของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณเชิงกรานรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ มีหน้าที่ผลิตน้ำเมือกสำหรับหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ นับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์อย่างมาก

    ต่อมลูกหมาก คืออะไร

    ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะภายในของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ และห่อหุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ต่อมลูกหมากมีขนาดเท่าลูกเกาลัดหรือประมาณลูกปิงปอง หนักราว 15-20 กรัม จะหยุดโตเมื่อผู้ชายอายุประมาณ 20 ปี

    ต่อมลูกหมากมีหน้าที่ผลิตของเหลวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำอสุจิ เพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิและนำพาตัวอสุจิออกสู่ภายนอกร่างกายเมื่อมีการหลั่งในขณะที่มีเพศสัมพันธ์

    แม้ต่อมลูกหมากจะอยู่ภายในร่างกาย แต่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ด้วยการสอดนิ้วมือผ่านรูทวารเข้าไปสัมผัสและตรวจสอบขนาดหรืออาการบวมของต่อมลูกหมากเรียกว่า การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก

    ในเพศหญิง อวัยวะภายในซึ่งเปรียบเสมือนต่อมลูกหมากคือต่อมสกีน (Skene’s Gland หรือ Paraurethral Gland) โดยอยู่บริเวณส่วนปลายของท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่หลั่งสารหล่อลื่นให้ทั้งช่องคลอดและท่อปัสสาวะ

    ต่อมลูกหมากมีความสำคัญอย่างไร

    ต่อมลูกหมากมีความสำคัญ ดังนี้

    • ผลิตส่วนประกอบของน้ำอสุจิ หรือของเหลวสภาพเป็นกรดซึ่งคิดเป็น 15-30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำอสุจิทั้งหมด สำหรับหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ
    • ขับน้ำอสุจิออกนอกร่างกาย กล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมากทำหน้าที่ขับน้ำอสุจิให้ออกจากองคชาตเมื่อถึงจุดสุดยอด ความแรงของน้ำอสุจิคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยดันให้ตัวอสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้ลึกพอ และมีโอกาสว่ายไปผสมกับไข่เพื่อปฏิสนธิ
    • ทำให้องคชาตแข็งตัว เส้นประสาทของต่อมลูกหมากจะกระตุ้นให้เลือดจำนวนมากไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงองคชาตและค้างอยู่ในเนื้อเยื่อฟองน้ำในองคชาต ทำให้องคชาตแข็งตัวและพร้อมสำหรับการสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิง
    • มีเอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ให้เป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone; DHT)
    • ควบคุมปัสสาวะ ไม่ให้รั่วไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะขณะรอขับถ่าย เพราะหากเกิดการรั่วไหลอาจไปปนเปื้อนกับตัวอสุจิซึ่งรอหลั่งออกเมื่อถึงจุดสูงยอด

    โรคที่อาจเกิดขึ้นกับ ต่อมลูกหมาก

    โรคที่อาจเกิดกับต่อมลูกหมาก อาจมีดังนี้

    • ต่อมลูกหมากอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ในบางรายอาจไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบได้ในผู้ชายทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งพบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบอาจมีอาการ ปวดท้องน้อยหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน คลื่นไส้ มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด พบเลือดปนในปัสสาวะ
    • ต่อมลูกหมากโต มักพบในผู้ชายอายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยต่อมลูกหมากจะโตขึ้นจนเบียดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะยาก ต้องเบ่งนาน ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไหลเบากว่าปกติ ขณะเดียวกัน อาการของผู้ป่วยบางรายอาจผิดปกติไปจากทั่วไป คือ ปัสสาวะบ่อย หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • มะเร็งต่อมลูกหมาก คือการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณต่อมลูกหมาก ส่งผลให้ท่อปัสสาวะอุดตัน และเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักเกิดกับผู้ชายอายุเกิน 50 ปี ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการ คือปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน รู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะหรือหลั่งน้ำอสุจิ และพบเลือดปนในปัสสาวะ

    วิธีดูแลสุขภาพเพื่อให้ต่อมลูกหมากแข็งแรง

    • ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ชาเขียว ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ชาเขียวอาจมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ให้เกิดขึ้น และชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
    • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายสม่ำเสมออาจช่วยลดความเสี่ยงของต่อมลูกหมากโตและโรคในระบบทางเดินปัสสาวะได้
    • หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียด อาจเกิดการเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยไม่รู้ตัว ในระยะยาวความเครียดจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพของอุ้งเชิงกรานรวมถึงโรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
    • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน เนื่องจากเป็นแหล่งไขมันดี และอาจลดโอกาสการอักเสบของเซลล์ซึ่งทำให้เกิดมะเร็ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา