backup og meta

Male Infertility คือ อะไร อาการ และสาเหตุที่ควรรู้

Male Infertility คือ อะไร อาการ และสาเหตุที่ควรรู้

Male Infertility คือ ภาวะที่ไม่สามารถนำไปสู่ในการทำให้ฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ได้ แม้จะมีเซ็กส์เป็นประจำโดยไม่ได้คุมกำเนิด ซึ่งภาวะมีบุตรยากอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ โรคประจำตัว พันธุกรรม ปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากสงสัยว่าอาจมีภาวะมีบุตรยาก และต้องการมีบุตร ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา และวิธีช่วยในการมีลูกที่เหมาะสมที่สุด

Male Infertility คือ อะไร

Male Infertility คือ ภาวะที่ไม่สามารถนำไปสู่ในการทำให้ฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ได้ แม้จะมีเซ็กส์เป็นประจำโดยไม่ได้คุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งภาวะมีบุตรยากอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุ โรคประจำตัว พันธุกรรม ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดที่สุดของภาวะนี้อาจสังเกตได้จากการที่ฝ่ายหญิงไม่ตั้งครรภ์เสียที

อาการของ Male Infertility

โดยส่วนใหญ่กว่าผู้ชายจะรู้ตัวว่าตนเองมีภาวะมีบุตรยาก ก็เมื่อพยายามมีลูกมาหลายปี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้อาการของภาวะมีบุตรยากอาจสังเกตเห็นได้ยาก แต่อาการที่อาจพบได้ทั่วไป มีดังนี้

  • ผมร่วง ผมบาง หนวดบาง หรือมีสัญญาณของฮอร์โมนหรือโครโมโซมผิดปกติ
  • หน้าอกโตผิดปกติ หรือภาวะผู้ชายมีนม (Gynecomastia)
  • ปวดลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะบวม หรือมีก้อนอยู่ด้านในลูกอัณฑะบวม ในทางกลับกันอาจมีอาการลูกอัณฑะหดตัวเล็กลงก็ได้เช่นกัน
  • ความต้องการทางเพศลดลด และมีปัญหาเกี่ยวการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำอสุจิ
  • จำนวนอสุจิน้อยกว่าปกติ คือ น้อยกว่า 15 ล้านตัว/มิลลิลิตร หรือมีอสุจิน้อยกว่า 39 ล้านตัวต่อการหลั่ง 1 ครั้ง

สาเหตุของ Male Infertility

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก อาจมีดังนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ

ปัญหาเกี่ยวกับอสุจิอาจเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดจากการกระบวนการผลิตอสุจิ หรือการเจริญเติบโตของอสุจิที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น อสุจิเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อสุจิมีรูปร่างผิดปกติ ภาวะจำนวนตัวอสุจิน้อย (Oligospermia) ภาวะไม่มีการสร้างตัวอสุจิ (Azoospermia) รวมถึงอาจเป็นผลกระทบจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด

นอกจากนี้ อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น ไตวาย การติดเชื้อในวัยเด็ก ปัญหาเกี่ยวกับโครโมโซม ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของอสุจิได้

  • ภาวะหลอดเลือดอัณฑะขอด

ภาวะหลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) เป็นภาวะที่อาจพบได้บ่อยในผู้ชายที่มีปัญหามีบุตรยาก ภาวะนี้จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอสุจิ หรืออาจทำให้เลือดไหลเวียนจากช่องท้องกลับเข้าไปที่ถุงอัณฑะ จนลูกอัณฑะอุ่นเกินไปจึงไม่สามารถผลิตอสุจิได้ ส่งผลให้มีจำนวนอสุจิน้อย และเกิดเป็นภาวะมีบุตรยาก

  • ภาวะหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง

ภาวะหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง (Retrograde Ejaculation) คือ ภาวะที่น้ำอสุจิไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ไม่หลั่งออกมาข้างนอกอวัยวะเพศ ภาวะนี้อาจเป็นผลจากการผ่าตัด การใช้ยาบางชนิด หรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ซึ่งอาจสังเกตได้จากน้ำปัสสาวะหลังถึงจุดสุดยอดมีสีขุ่น เนื่องจากมีน้ำอสุจิเข้าไปปนนั่นเอง

  • ร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานต่อตัวอสุจิ

ส่วนใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือการติดเชื้อ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะนี้ทำให้ตัวอสุจิน้อยลงได้อย่างไร แต่ภาวะนี้อาจทำให้ตัวอสุจิเดินทางเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ได้ยากขึ้น

  • สิ่งกีดขวาง

ผู้ชายมีลูกยากอาจเป็นเพราะการสร้างอสุจิและการเดินทางของอสุจิผิดปกติ โดยปัจจัยบางอย่าง เช่น การติดเชื้อซ้ำ การผ่าตัด การทำหมัน

  • ฮอร์โมน

ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหลายชนิดเกี่ยวข้องกับการสร้างอสุจิ หากฮอร์โมนต่ำก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอสุจิได้

  • โครโมโซม

ในน้ำอสุจิมีดีเอ็นเอที่จะไปผสมกับไข่ หากจำนวนและโครงสร้างของโครโมโซมเปลี่ยนแปลง ก็อจส่งผลกระทบต่อภาวะการเจริญพันธ์ุได้

  • การใช้ยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจส่งผลให้การผลิต การทำงาน และการเดินทางของอสุจิเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งยาที่ส่งผลต่ออสุจิ มักเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาสภาวะดังต่อไปนี้

  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคซึมเศร้า
  • ปัญหาในระบบย่อยอาหาร
  • การติดเชื้อ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคมะเร็ง

นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีกอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าคนรักไม่เกิดการตั้งครรภ์เสียที อาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดทั้งตนเอง และคู่รัก พร้อมรับวิธีแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสม

การวินิจฉัย Male Infertility

หากผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และพยายามมีลูกมาแล้ว 1 ปีแต่ไม่สำเร็จ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ โดยคุณหมออาจวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และสแกนร่างกาย เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์และจำนวนของอสุจิ

นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ทำการตรวจวิเคราะห์อสุจิด้วยว่ามีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจต้องมีการร่วมมือของแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการรักษาด้านภาวะมีบุตรยาก ตามเกณฑ์สุขภาพที่ได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น จึงควรเตรียมข้อมูลของตนเองให้พร้อมสำหรับเข้ารับการวินิจฉัย ดังนี้

  1. นำยาที่กำลังรับประทานอยู่ติดตัวไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคประจำตัว วิตามิน แร่ธาตุ และอาหารเสริม
  2. จดรายละเอียดว่ามีเพศสัมพันธ์กับคู่รักแบบไม่คุมกำเนิดบ่อยแค่ไหน ใช้เวลาในการพยายามมีลูกมานานเท่าไหร่ รวมถึงระบุวันเวลาครั้งสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเพื่อพยายามมีลูก
  3. ตรวจดูร่างกายของตนเองว่าเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการอื่นใดที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากหรือไม่
  4. หากเคยเข้ารับการผ่าตัดหรือรับการรักษาที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ และนำเอกสารที่เกี่ยวข้องติดตัวไปด้วย
  5. หากเคยเข้ารับการฉายรังสีหรือทำคีโมบำบัด ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ
  6. หากเคยมีประวัติติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ
  7. แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีงิตประจำวัน เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด

เมื่อคุณหมอได้คำตอบอย่างละเอียด จะทำให้สามารถดำเนินการหาวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม และอาจทำให้กลับเข้าสู่การมีบุตรได้อีกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Understanding Infertility — Symptoms. http://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/understanding-infertility-symptoms#1. Accessed June 19, 2017.

Male infertility. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/male-infertility/symptoms-causes/syc-20374773. Accessed June 19, 2017.

What is Male Infertility?. https://www.urologyhealth.org/urologic-conditions/male-infertility. Accessed June 19, 2017.

Infertility in Men. https://www.ucsfhealth.org/conditions/infertility-in-men/causes. Accessed June 19, 2017.

Male Infertility. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/male-infertility. Accessed September 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/09/2022

เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้เสริมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้ชาย มีอะไรบ้าง

ไม่มีเซ็กส์นาน ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 23/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา