backup og meta

Oral sex กับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 16/11/2023

    Oral sex กับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

    Oral sex (ออรัลเซ็กส์) หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก โดยการใช้ลิ้นและปากกระตุ้นอวัยวะเพศหรือบริเวณทวารหนักของอีกฝ่าย ซึ่งสามารถทำได้ทุกเพศ ไม่จำกัดเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิง อย่างไรก็ตาม การทำออรัลเซ็กส์อาจนำไปสู่การติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งการติดเชื้อในช่องปาก ทางเดินหายใจ และอวัยวะเพศ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของการทำออรัลเซ็กส์ และวิธีทำออรัลเซ็กส์อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    ความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมกับ Oral sex

    การทำออรัลเซ็กส์สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากบริเวณช่องปากอาจต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งและน้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส หากไม่มีการป้องกัน เช่น ใช้ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย (Dental dam) ก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากขึ้น

    โรคที่อาจพบจากการทำออรัลเซ็กส์ เช่น

    โรคหนองใน หรือโรคหนองในแท้

    เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ มีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศ ปวดท้อง มีตกขาว และอาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยขณะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ โรคหนองในแท้ที่แพร่กระจายทางการ Oral sex ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณคออักเสบได้ด้วย

    โรคหนองในเทียม

    เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia) ทำให้มีหนองหรือสารคัดหลั่งไหลออกจากอวัยวะเพศ แสบร้อนขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ บริเวณอวัยวะเพศคันและบวม และอาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยขณะมีเพศสัมพันธ์

    โรคซิฟิลิส

    เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ที่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางบาดแผล ในระยะเริ่มต้นอาจเกิดแผลเล็ก ๆ ที่ไม่มีอาการเจ็บในบริเวณที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) จากนั้นอาจเกิดผื่นแดงขึ้นทั่วร่างกาย ร่วมกับมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผมร่วง เจ็บคอ จากนั้นโรคจะเข้าสู่ระยะแฝงเป็นเวลานานหลายปี หากไม่รักษา โรคจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่เชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และทำลายอวัยวะภายในต่าง ๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    โรคเริม

    เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ที่นำไปสู่การเกิดโรคเริมที่ริมฝีปากและเริมที่อวัยวะเพศ ทำให้เกิดแผลพุพองจำนวนมากบริเวณริมฝีปาก ภายในช่องปาก และบริเวณอวัยวะเพศ

    โรคหูดหงอนไก่

    เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) ทำให้มีตุ่มหูดเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด และหากมีทำ Oral sex โดยไม่ป้องกัน อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ภายในปากหรือลำคอ ทั้งยังอาจมีอาการคัน รู้สึกเจ็บปวด หรือมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย

    โรคมะเร็งปากมดลูก

    การทำ Oral sex อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

    การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)

    หากในช่องปากมีบาดแผล หรือเหงือกมีเลือดออก แล้วทำออรัลเซ็กส์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่อาจนำไปสู่โรคเอดส์ (Aids) ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

    การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

    เชื้อไวรัสตับอักเสบมีด้วยกันหลายชนิด เช่น

    • ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) มักถ่ายทอดผ่านการสัมผัสอุจจาระที่ปนเปื้อนไวรัส อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ปวดท้อง มีอาการคัน โดยปกติ อาการไม่รุนแรงและอาจหายได้ภายใน 1-2 เดือน
    • ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) มักถ่ายทอดผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง ทำให้เกิดอาการคล้ายกับไข้หวัด อ่อนเพลีย เป็นไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย โดยปกติ อาการมักจะหายไปภายใน 1-3 เดือน แต่บางคนก็อาจติดเชื้อเรื้อรังและมีอาการนานกว่า 6 เดือน
    • ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) มักถ่ายทอดผ่านทางเลือด ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ตับเสียหายอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    คำแนะนำในการทำ Oral sex

    สำหรับผู้ที่ต้องการทำออรัลเซ็กส์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

    • ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับอวัยวะเพศและสารคัดหลั่งต่าง ๆ โดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสก่อโรคเหล่านี้ สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรับวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสเหล่านี้
    • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการทำออรัลเซ็กส์ในช่วงที่มีประจำเดือน หรือกำลังมีบาดแผลในบริเวณช่องปากและอวัยวะเพศ เนื่องจากอาจทำให้ต้องสัมผัสกับเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
    • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบโรค จะได้รักษาทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 16/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา