backup og meta

Sexual Assault คือ การล่วงละเมิดทางเพศ ป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Sexual Assault คือ การล่วงละเมิดทางเพศ ป้องกันได้อย่างไร

    Sexual Assault คือ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสดงพฤติกรรมทางเพศต่อผู้ใดผู้หนึ่งโดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม พฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การข่มขืน การแตะเนื้อต้องตัวในทางชู้สาวโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม การใช้วิธีการใด ๆ เพื่อล่อลวงหรือบังคับให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งนี้ มีวิธีป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่บ้าง เช่น หมั่นสังเกตพฤติกรรมคนรอบข้าง หากมีท่าทีไม่น่าไว้ใจให้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าตามลำพัง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่มืดหรือเปลี่ยวยามวิกาล

    Sexual Assault คือ อะไร

    Sexual Assault คือ การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง กระทำต่ออีกบุคคลโดยปราศจากความยินยอม หรือผ่านการข่มขู่ บังคับ กดดัน หรือทำให้ขาดสติด้วยฤทธิ์ของยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    โดยทั่วไป พฤติกรรมที่จัดอยู่ในกลุ่ม Sexual Assault ได้แก่

  • การข่มขืน หรือพยายามข่มขืน
  • การกอด จูบ ลูบคลำ หรือการสอดใส่อวัยวะเพศ นิ้ว หรือสิ่งของเข้าไปในร่างกายโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม
  • การใช้กำลัง วาจา หรืออุบายใด ๆ เพื่อหลอกล่อหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยทั้งแบบสอดใส่หรือไม่สอดใส่ก็ตาม
  • การแตะต้องเสื้อผ้า หน้า ผม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายในขณะที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัวหรือไม่ยินยอมเพื่อสร้างความสุขทางเพศให้ตนเอง เช่น เปิดกระโปรง แอบถ่ายใต้กระโปรง หรือกระทำต่อผู้ที่อยู่ในสภาพที่เสียเปรียบ เช่น เป็นเด็ก หมดสติ พิการทางร่างกายหรือสมอง
  • การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
  • รายงานหนึ่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. พ.ศ. 2565 ระบุว่า ผู้หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ รวมถึงได้รับความรุนแรงทางกายหรือใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณ 30,000 คน/ปี

    นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2560 ยังระบุว่า ร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทยไม่เคยมีการแจ้งความกับตำรวจ

    Sexual Assault ต่างกับ Sexual Abuse หรือไม่

    Sexual Abuse มีความหมายเดียวกับ Sexual Assault แต่มักใช้เรียกพฤติกรรมทางเพศที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กอย่างผู้ปกครอง ครู หรือหมอ หรือเมื่อเด็กที่อายุมากกว่าล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่อายุน้อยกว่า

    บ่อยครั้งที่ Sexual Abuse มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือมีการวางแผนเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้ตัว อาจเริ่มต้นด้วยการตีสนิทกับเด็ก เพื่อให้เด็กตายใจหรือยอมอยู่กับผู้กระทำเพียงลำพัง จากนั้นผู้กระทำจึงค่อยก่อเหตุ

    ทั้งนี้ นอกจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในส่วนของ Sexual Assault พฤติกรรมที่เข้าข่าย Sexual Abuse ยังมีดังต่อไปนี้

    • การแสดงอวัยวะเพศต่อหน้าเด็ก
    • การช่วยตัวเองต่อหน้าเด็ก หรือการบังคับให้เด็กช่วยตัวเอง
    • การโทรคุยกับเด็กในเชิงชู้สาว หรือการส่งข้อความหรือรูปภาพอนาจารให้เด็กผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ
    • การถ้ำมอง การถ่ายภาพขณะเด็กเปลือยร่างกาย

    Sexual Assault ป้องกันได้อย่างไร

    Sexual Assault เป็นพฤติกรรมที่ทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อได้ ไม่ว่าทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้สูงวัย ทั้งนี้ การป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ต่าง ๆ อาจมีวิธีดังต่อไปนี้

    • สังเกตผู้คนหรือเหตุการณ์รอบตัว และระวังตัวอยู่เสมอ เมื่ออยู่ในสถานที่หรือบรรยากาศที่ไม่น่าไว้ใจ
    • หากไม่แน่ใจว่าบุคคลใกล้ตัวมีพฤติกรรมเข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน สถานศึกษา ให้สังเกตอยู่ห่าง ๆ และปรึกษาคนสนิทที่ไว้ใจได้
    • เมื่ออยู่นอกบ้านตอนกลางคืน ควรเลือกอยู่ในที่สว่างหรือแสงไฟส่องถึง และ
    • ควรเลี่ยงเดินใกล้พุ่มไม้หรือซอยที่ผู้ก่อเหตุอาจซ่อนตัวอยู่
    • หากไปไหนคนเดียวแล้วรู้สึกว่าถูกเดินตาม ควรรีบเดินไปยังพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากหรือมีแสงสว่าง เช่น ร้านสะดวกซื้อ
    • หากรู้สึกว่ามีรถขับตามขณะขับรถ ให้ขับหนีไปยังบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน มีแสงสว่าง หรือสถานีตำรวจ
    • เมื่ออยู่บ้าน หรือห้องพัก ควรตรวจกลอนประตูหรือหน้าต่างให้แน่ใจว่าล็อกสนิท เพื่อป้องกันคนร้ายบุกเข้ามาก่อเหตุ
    • เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลที่ไมน่าไว้ใจหรือดูมีเจตนาที่จะต้องการล่วงละเมิดทางเพศ ให้บ่ายเบี่ยงหรือยุติบทสนทนาเพื่อปกป้องตัวเองหรือรีบหนีหากพบว่าการสนทนาใช้ไม่ได้ผล ทั้งนี้ หากอีกฝ่ายโจมตีหรือใช้ความรุนแรง ให้ผลักอีกฝ่ายออกแล้วตะโกนขอความช่วยเหลือ

    วิธีรับมือกับ Sexual Assault 

    หากถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • แจ้งคนใกล้ชิดหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    • แจ้ง 191 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ประชาบดี 1300 มูลนิธิ ปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี 1134
    • เข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อตรวจสุขภาพทางกายภาพ การตั้งครรภ์ การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเพื่อเก็บตัวอย่างหรือหลักฐานของผู้ก่อเหตุที่หลงเหลือบนร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดร่างกาย หวีผม หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้หลักฐานซึ่งเชื่อมโยงไปยังผู้ก่อเหตุ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา