กระเนื้อ คือ ตุ่มหรือติ่งเนื้อที่ยื่นออกมาจากผิวหนังร่างกาย ไม่เป็นอันตรายและไม่กลายเป็นเนื้อร้าย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังซึ่งพบได้เมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ กระเนื้อจะไม่หายหรือหลุดไปเอง มักใช้วิธีจี้ให้หลุดออกโดยการบำบัดด้วยความเย็น หรือใช้แสงเลเซอร์
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
กระเนื้อ คืออะไร
กระเนื้อ เป็นตุ่มหรือติ่งเนื้อซึ่งขึ้นบนผิวหนัง ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อ พบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก หรือแผ่นหลัง
ในบางกรณี กระเนื้ออาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกระแดด หรือผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratoses) เนื่องจากลักษณะที่คล้ายกันคือเป็นสีน้ำตาลเข้ม เพียงแต่กระแดดจะไม่ยื่นออกมาจากร่างกายและมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายแผลตกสะเก็ดมากกว่า และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง ในขณะที่กระเนื้อไม่เติบโตหรือเปลี่ยนไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
นอกจากนี้ อาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างกระเนื้อกับอาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ซึ่งผลิตเม็ดสีให้ผิวหนังมีความเข้มกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ อาการของทั้ง 2 โรคมีส่วนที่แตกต่างกัน เช่น
- กระเนื้อมักเกิดแบบกลุ่มมากกว่าแบบเดี่ยว ส่วนกระซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มักเกิดแบบเดี่ยวมากกว่าแบบกลุ่ม คล้ายเป็นไฝเม็ดใหญ่มากกว่า
- กระเนื้อมีพื้นผิวขรุขระ ส่วนกระแดดซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มักมีผิวเรียบ
- กระเนื้อมีรูปร่างชัดเจนและเป็นตุ่มนูนหรือติ่งยื่นออกจากผิวหนัง ส่วนแดดที่กลายเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มักนูน มีรูปร่างหรือขอบที่ไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ และมักโตเร็วกว่าปกติ
ลักษณะ
ลักษณะของกระเนื้อ
ลักษณะของกระเนื้อที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้
- เป็นตุ่มทรงกลมหรือทรงรีขนาดเล็ก ยื่นออกมาจากผิวหนังเพียงเล็กน้อย หรือเป็นปื้นนูนเล็กน้อย พื้นผิวอาจไม่เรียบ
- มีหลายขนาด กระเนื้อขนาดเล็กอาจมองไม่เห็น แต่เมื่อใช้มือลูบจะสัมผัสได้ แต่กระเนื้อขนาดใหญ่อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 2.5 เซนติเมตร
- เป็นติ่งเดี่ยว กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออาจเป็นติ่งเนื้ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
- มีหลายสี ตั้งแต่สีเนื้อ สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีดำ
- บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง หรือมีเลือดออก
สาเหตุ
สาเหตุของกระเนื้อ
สาเหตุของกระเนื้อยังไม่เป็นที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม กระเนื้อมักเกิดกับบุคคลเหล่านี้
- บุคคลที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นได้กับทั้งชายและหญิง
- บุคคลที่คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นกระเนื้อ
- บุคคลที่มีผิวสีอ่อน
- บุคคลที่ตากแดดบ่อย ๆ
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากเป็นกระเนื้อ ควรไปพบคุณหมอเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ หรือสร้างความลำบากให้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจ หรือเมื่อกระเนื้อสร้างอาการระคายเคือง คัน หรือมีเลือดออกซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเสียดสีกับเสื้อผ้าที่สวมใส่
เนื่องจากกระเนื้ออาจมีความคล้ายคลึงกับอาการของมะเร็งผิวหนังบางชนิด หากไม่แนใจว่าเป็นกระเนื้อหรือไม่โดยเฉพาะเมื่อพบว่ากระเนื้อโตขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ มีเลือดไหลจากติ่งเนื้อไม่หยุด หรือมีอาการปวดบริเวณกระเนื้อร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
การวินิจฉัยและรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกระเนื้อ
เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะวินิจฉัยกระเนื้อด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจดูด้วยตาเปล่า ร่วมกับการซักถามอาการของคนไข้ หรืออาจรวมถึงประวัติของคนในครอบครัวว่าเคยมีใครเป็นกระเนื้อรวมทั้งมะเร็งโรคผิวหนังหรือไม่
- ตรวจผิวหนังด้วยเครื่องมือเฉพาะ หรือกล้องส่องดูรอยโรคที่เรียกว่า Dermoscope ซึ่งทำให้คุณหมอเห็นรอยโรคชัดเจนขึ้น และยังช่วยให้วินิจฉัยกระเนื้อออกจากมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
- ตรวจชิ้นเนื้อ โดยการตัดกระบางส่วนหรือทั้งหมดออกไป แล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ในกรณีสงสัยว่าอาจไม่ใช่กระเนื้อ แต่เป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง
การรักษากระเนื้อ
โดยทั่วไป กระเนื้อจะไม่หายหรือหลุดออกไปเอง แต่เนื่องจากไม่เป็นอันตราย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากกระเนื้อเป็นสาเหตุของการคันหรือระคายเคือง การรักษากระเนื้อ อาจทำด้วยวิธีการต่อไปนี้
- บำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการพ่นหรือแต้มไนโตรเจนเหลวเพื่อแช่แข็งกระเนื้อตรงจุดนั้นให้ตายและหลุดลอกออกไป โดยผิวหนังบริเวณนี้จะฟื้นฟูและสร้างผิวขึ้นมาใหม่ เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี แต่ข้อเสียของการบำบัดด้วยความเย็น คือ ผิวหนังส่วนที่ผ่าตัดกระเนื้อออกไป อาจมีสีอ่อนกว่าบริเวณโดยรอบ โดยผลข้างเคียงนี้จะพบในบุคคลผิวสีเข้มมากกว่าบุคคลผิวสีอ่อน
- ผ่าตัดหรือขูดออก เป็นการฝานกระเนื้อออกจากร่างกายด้วยมีดผ่าตัด หรือใช้ที่ขูดแผล (Curettage) ขูดออก ภายใต้ฤทธิ์ของยาชา อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกระเนื้อลักษณะแบน การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือขูดออก อาจทำร่วมกับการบำบัดด้วยความเย็น
- ตัดหรือจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า นิยมใช้กับกระเนื้อที่เป็นติ่งค่อนข้างหนาและใหญ่ เป็นการผ่าตัดหรือจี้กระเนื้อโดยใช้กระแสไฟฟ้าความถี่สูง โดยวิธีนี้อาจทำร่วมกับการขูดแผล เนื่องจากการจี้หรือตัดด้วยไฟฟ้าบางครั้งอาจกำจัดกระเนื้อออกไม่ได้ทั้งหมด
- จี้ออกด้วยเลเซอร์ การรักษาวิธีนี้ มีข้อดีคือ รวดเร็ว แผลสวย และไม่สูญเสียเลือด แต่ข้อเสียคือ หลังการรักษาจะมีแผลเปิดเป็นแผลถลอก อาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่จี้กระเนื้อออก
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
กระเนื้อเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรม จึงไม่อาจป้องกันได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ควรดูแลผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกไปเผชิญแสงแดด เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาผิวหนัง และโรคมะเร็งผิวหนัง ที่สำคัญ หากมีกระเนื้อ หรือมีปัญหาโรคผิวหนังที่ทำให้ไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจว่าอันตรายหรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง