เล็บเป็นอวัยวะควรได้รับการดูแลไม่แพ้อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หากปล่อยให้เล็บอ่อนแอ อาจเกิดความเสียหายได้ เช่น เล็บแตก เล็บหัก เล็บเปราะ เล็บฉีกขาด วิธีดูแลเล็บมือ ให้แข็งแรงสุขภาพดีนั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการบำรุงเล็บด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สำคัญควรดูแลเล็บเป็นประจำสม่ำเสมอ
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุที่ส่งผลให้ เล็บมือพัง
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจทำโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการกัดเล็บ แกะเล็บ ใช้เล็บงัดแงะของแข็ง อาจส่งผลให้เล็บพัง และเนื้อเยื่อโดยรอบเสียหาย จนเกิดการบวม ช้ำ อักเสบได้ นอกจากพฤติกรรมข้างต้นแล้ว ยังมีภาวะสุขภาพบางประการที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพเล็บ ได้แก่
- โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ
- อาการเล็บเปราะบาง
- โรคเชื้อราที่เล็บ
- อาการเล็บคุด
- อาการปลายเล็บร่น
- อาการเล็บขบ
นอกจากนี้ ยังอาจมีโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพเล็บได้ด้วย หากสังเกตว่าเล็บ หรือเนื้อเยื่อรอบเล็บ มีสีเปลี่ยนแปลง บวม เจ็บบริเวณเล็บ เล็บแตกหักง่าย มีเลือดคั่งใต้เล็บ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอในทันที เพื่อคณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสมกับอาการและสาเหตุที่เป็นอย่างเหมาะสมต่อไป
อาหารเสริมที่ช่วยให้ เล็บมือ แข็งแรง
ไบโอติน (Biotin) เป็นวิตามินในตระกูลวิตามินบี ที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาสุขภาพด้านระบบประสาท ผม โดยเฉพาะเล็บ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอาหารทั่วไป เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลาแซลมอน ไข่ ผู้ที่มีสุขภาพเล็บอ่อนแอ เปราะบาง การรับประทานวิตามิน หรืออาหารเสริมจากไบโอติน อาจสามารถเสริมสร้างเล็บให้ค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นตามลำดับได้ ที่สำคัญ การดื่มน้ำที่เพียงพอต่อวัน จะช่วยส่งเสริมสุขภาพเล็บให้แข็งแรง ผิวหนังรอบเล็บไม่ลอก เล็บไม่เปราะแตกหักง่าย
วิธีดูแลเล็บมือ ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
เพื่อให้เล็บแข็งแรง มีสุขภาพดี ควรหมั่นบำรุงดูแล และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง ดังต่อไปนี้
- ไม่ควรกัดเล็บ และตัดหนังกำพร้าบ่อย เพราะหนังกำพร้าเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อรอบเล็บจากแบคทีเรีย เชื้อรา
- งดการทำเล็บที่ที่ทำให้หน้าเล็บแข็ง และหนาจนเกินไป เช่น การทำเล็บเจล ติดเล็บปลอม
- หลีกเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรงอย่างสารอะซิโตน (Acetone) เช่น ยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ
- ห้ามใช้เล็บในการเปิดอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกระป๋อง ฝาขวด เพื่อป้องกันเล็บบิ่นหรือหัก
นอกจากนี้ หากสังเกตว่าเล็บอาจติดเชื้อ เช่น มีอาการผิวหนังลอกเจ็บ เล็บแตกบ่อยครั้ง ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง โปรดเข้ารับการรักษากับคุณหมอด้านผิวหนังทันที ก่อนเชื้อราจะส่งผลเสียที่ร้ายแรงต่อเล็บมากขึ้น