backup og meta

ส่วนผสมในยาสระผม เลือกอย่างไรให้เหมาะกับสภาพเส้นผม

ส่วนผสมในยาสระผม เลือกอย่างไรให้เหมาะกับสภาพเส้นผม

วิธีบำรุงรักษาเส้นผมให้สุขภาพดี แข็งแรง และนุ่มสลวยนั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งการดูแลตัวเองจากภายใน อย่างการบริโภควิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อเส้นผม เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินเอ เหล็ก โบโอติน โอเมก้า 3 รวมไปถึงวิธีบำรุงจากภายนอก เช่น หวีผมอย่างเบามือ บำรุงผมด้วยน้ำมันต่าง ๆ หมักผมด้วยไข่แดง นอกจากนั้นแล้ว ยังรวมไปถึงการอ่านฉลากเพื่อตรวจดูส่วนผสมในยาสระผม โดยเลือกให้เหมาะกับสภาพเส้นผมของตนเอง

[embed-health-tool-bmi]

ส่วนผสมในยาสระผม ที่พบได้ทั่วไป

แชมพูหรือยาสระผมทุกชนิดมักมีส่วนประกอบสำคัญคือ สารชำระล้าง (Detergents) หรือสารทำความสะอาด (Cleaning agent) เพราะสารเหล่านี้ช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกิน สิ่งสกปรก กลิ่น และสะเก็ดผิวหนัง ที่ติดอยู่ตามหนังศีรษะและเส้นผม

ส่วนผสมอีกหนึ่งชนิดที่พบได้บ่อยในยาสระผมก็คือ สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เช่น โซเดียมลอริลซาโครซิเนต (Sodium Lauryl Sarcosinate) โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate หรือ (SLS) โซเดียมลอเรทซัลเฟต (Sodium Laureth Sulfate หรือ SLES) โดยสารลดแรงตึงผิวเหล่านี้จะช่วยทำให้แรงตึงผิวของยาสระผมลดลง ยาสระผมจึงกระจายตัวได้ดีขึ้น โดยทำงานร่วมกับสารช่วยลดแรงตึงผิว อย่างสารโคคามิโดโพรพิลเบทาอีน (Cocamidopropyl Betaine)

นอกจากนี้ ยาสระผมหรือแชมพูทั่วไป ยังมักมีส่วนผสมเหล่านี้ด้วย ได้แก่

  • สารก่อโฟม หรือสารที่ทำให้เกิดฟอง (Foaming Agents)
  • สารปรับสภาพเส้นผม (Conditioner)
  • สารช่วยทำให้ข้น หรือสารเพิ่มความหนืด (Thickening Agent) เช่น เจลาติน กรดสเตียริก แซนแทนกัม
  • สารช่วยให้ทึบแสง (Opacifier)
  • สารกันการรวมตัว หรือสารซีเควสเตอร์ (Sequestering Agent)
  • สารกันเสีย (Preservatives)
  • สารเติมแต่งพิเศษ (Special Additive)
  • น้ำหอม (Fragrance)

ส่วนผสมในยาสระผม ที่ควรหลีกเลี่ยง

เวลาเลือกซื้อยาสระผม ควรอ่านรายละเอียดบนฉลากบรรจุภัณฑ์ยาสระผม โดยควรหลีกเลี่ยงส่วนผสมในยาสระผมเหล่านี้ ได้แก่

ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) 

ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นส่วนประกอบทางเคมีที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน วัสดุก่อสร้าง ทั้งยังถูกใช้เป็นสารกันเสียในยาสระผมด้วย แต่กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Health and Human Services) ระบุว่า ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ผู้ที่ได้รับฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณสูงขณะทำงานมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์ (Myeloid Leukemia) และมะเร็งชนิดหายาก เช่น มะเร็งจมูกและไซนัส มะเร็งช่องลำคอ

อีกทั้งฟอร์มัลดีไฮด์ยังก่อให้เกิดโรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) และหากผู้ที่เป็นโรคผื่นแพ้สัมผัสหรือโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) อยู่แล้วสัมผัสสารฟอร์มัลดีไฮด์ อาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

ซัลเฟต (Sulfates) 

ซัลเฟต เช่น โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate หรือ (SLS) โซเดียมลอเรทซัลเฟต (Sodium Laureth Sulfate หรือ SLES) เป็นสารที่ช่วยทำให้ยาสระผมมีฟอง และทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะได้สะอาดมากขึ้น แต่สารเคมีชนิดนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผิวแห้ง หรือผิวหนังอักเสบได้ และหากใครมีปัญหาผิวแพ้ง่าย หรือเป็นโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) อาจทำให้อาการแย่ลงได้

นอกจากนี้ ซัลเฟตยังอาจขจัดน้ำมันธรรมชาติของเส้นผมออกมากเกินไป และขัดขวางการผลิตน้ำมันตามธรรมชาติของเส้นผม จนทำให้ผมแห้งเสีย และถูกทำลายได้

พาราเบน (Parabens) 

พาราเบน ใช้เป็นสารกันเสียในยาสระผมส่วนใหญ่ แต่หากหลีกเลี่ยงได้ ควรเลือกยาสระผมที่ไม่มีพาราเบน เพราะพาราเบนอาจแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังและเนื้อเยื่อได้อย่างรวดเร็ว และสามารถก่อให้เกิดโรคผื่นแพ้สัมผัส และความผิดปกติของผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่นแดง อาการระคายเคือง อาการคัน ผิวหนังลอกตกสะเก็ด ลมพิษ

นอกจากนั้น พาราเบนอาจไปขัดขวางการหลั่งฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกาย จนส่งผลกระทบต่อการมีรอบเดือน และการตั้งครรภ์ได้ และพาราเบนยังอาจส่งผลต่อเนื้อเยื้อและเซลล์ของเต้านม รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ส่วนผสมที่เหมาะกับสภาพเส้นผมแต่ละประเภท

ผมตรง

หากมีผมตรงและต้องการเพิ่มวอลลุ่มให้เส้นผม ไม่อยากให้ผมดูลีบแบน แนะนำให้มองหายาสระผมที่มีวิตามินบี 5 วิตามินซี วิตามินอี มะพร้าว ถั่วเหลือง อัลมอนด์ หรือน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันเป็นส่วนผสม หรือหากต้องการให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น ผมแลดูหนานุ่มขึ้น ควรมองหายาสระผมที่มีโปรตีน เช่น โพลีเมอร์ประจุบวกและประจุลบ ข้าว ข้าวโพด เป็นส่วนผสม

อีกหนึ่งส่วนผสมในยาสระผมที่คนผมตรงควรมองหาก็คือ เคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนลักษณะเส้นใยที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของเส้นผม เคราตินจะช่วยให้เซลล์เส้นผมเรียบลื่น และผิวนอกสุดของเส้นผมดูดซึมโปรตีนได้ดีขึ้น ผมจึงหนานุ่ม และเรียบลื่นขึ้น อีกทั้งเคราตินยังช่วยให้เส้นผมชี้ฟูน้อยลง ผมจึงดูตรงสวยขึ้นด้วย

ผมหยักศก และผมหยิก

คนที่มีผมหยักศก หรือผมหยิกควรใช้แชมพูที่ปราศจากสารลดแรงตึงผิวอย่างซัลเฟต และมีส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เส้นผม และไม่ทำให้ผมชี้ฟู เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบจากธรรมชาติที่จะช่วยดึงความชื้นในอากาศเข้าสู่เส้นผม จึงทำให้ผมหยักศกหรือผมหยิกชี้ฟูน้อยลง ดูหยิกเป็นทรงสวย และเงางามด้วย

นอกจากกลีเซอรีนแล้ว ส่วนผสมอย่างน้ำมันจากธรรมชาติ เช่น เชียร์บัตเตอร์ น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอาร์แกน น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดองุ่น ก็เหมาะกับผมหยักศกหรือผมหยิกเช่นกัน เพราะสามารถดูดซึมเข้าสู่เส้นผมได้ง่าย ช่วยให้ผมชุ่มชื้น เป็นลอนสวย เงางาม และนุ่มลื่น

ผมหลุดร่วงง่าย และผมบาง

ปัญหาผมหลุดร่วงง่ายและผมบางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นภาวะผมร่วงที่มีรูปแบบแน่นอนในผู้ที่เป็นโรคผมบางจากพันธุกรรม ควรใช้ยาสระผมที่มีไฟโตคาเฟอีน (Phyto-caffeine) เป็นส่วนผสม

นอกจากนี้ ยาสระผมที่มีส่วนผสมของวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาผมหลุดร่วงง่าย หรือผมบางได้เช่นกัน เพราะวิตามินบี 3 จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงทำให้เลือดลำเลียงสารอาหารที่จำเป็นไปหล่อเลี้ยงรากผมได้มากขึ้น ผมจึงเจริญเติบโตได้ดีและหนาขึ้นด้วย

หากปัญหาผมขาดหลุดร่วงง่าย และผมบางเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ควรใช้ยาสระผมที่มีกรดอะมิโนอย่าง ฮิสทิดีน (histidine) เป็นส่วนผสม เพราะจะช่วยดูดซึมทองแดงส่วนเกินจากเส้นผม ผมจึงถูกรังสียูวีเอและยูวีบีทำลายน้อยลง

ผมทำสี หรือผมแห้ง

สำหรับผมทำสี ควรเลือกยาสระผมที่มีส่วนผสมของยาสระผมเป็นสารทำความสะอาดแบบอ่อนโยน เช่น โซเดียมลอริลซัลโฟอะซิเตต (Sodium Lauryl Sulfoacetate) และมีสารปรับสภาพเส้นผมหลายชนิด หรือเลือกยาสระผมที่ผสมน้ำมันธรรมชาติ เช่น น้ำมันอาร์แกน น้ำมันอะโวคาโด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก เพราะส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยให้ผมชุ่มชื้นขึ้น ทั้งยังมีสารอาหารที่ดีต่อเส้นผมและหนังศีรษะด้วย

นอกจากนี้ ยาสระผมผสมครีมนวดผม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผมทำสีและผมแห้ง เพราะจะมีซิลิโคนบาง ๆ ที่ช่วยเคลือบเส้นผมไว้แทนน้ำมันตามธรรมชาติ จึงทำให้เส้นผมเรียบลื่น และเงางามขึ้นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Guide to Shampoo and Conditioners. https://www.webmd.com/beauty/features/hair-washing#. Accessed April 19, 2022.

8 Ingredients to Avoid in Your Shampoo and Conditioner. https://www.genesiscareer.edu/8-ingredients-to-avoid-in-your-shampoo-and-conditioner/. Accessed April 19, 2022.

15 Harmful Ingredients In Shampoos And Conditioners That You Should Avoid, Starting Today!. https://skinkraft.com/blogs/articles/toxic-ingredients-in-shampoos-and-conditioners. Accessed April 19, 2022.

Shampoo. https://www.sciencedirect.com/topics/chemistry/shampoo. Accessed April 19, 2022.

Shampoo and Conditioners: What a Dermatologist Should Know?. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4458934/. Accessed April 19, 2022.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำมันบำรุงผม จากธรรมชาติ เพื่อคนรักเส้นผม

ความเครียดทำให้ผมร่วง ได้จริงหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา