backup og meta

หนังศีรษะเป็นเชื้อรา สาเหตุ การรักษา และป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    หนังศีรษะเป็นเชื้อรา สาเหตุ การรักษา และป้องกัน

    หนังศีรษะเป็นเชื้อรา หรือโรคกลากที่หนังศีรษะ เกิดจากการติดเชื้อรา ทำให้ผิวหนังบริเวณศีรษะแห้ง ตกสะเก็ด ลอกเป็นขุยคล้ายรังแค หรือคันร่วมด้วย ซึ่งรักษาได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราต่าง ๆ ทั้งยาสำหรับรับประทาน และแชมพูยาสำหรับสระผม หนังศีรษะเป็นเชื้อราป้องกันได้ด้วยการสระผมให้สะอาดและเป่าให้แห้งอยู่เสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้หวี ผ้าขนหนู หรือหมอนร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อผ่านกันได้ค่อนข้างง่าย

    หนังศีรษะเป็นเชื้อรา เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากซึ่งอาศัยอยู่ในทุก ๆ ที่ และสามารถแพร่กระจายมายังหนังศีรษะหรือเส้นผมของมนุษย์ได้จากหลายช่องทาง อาทิ

    • คนสู่คน ผ่านการสัมผัสร่างกายโดยตรง ด้วยการจับมือ กอด หรือลูบศีรษะ
    • สัตว์สู่คน โดยเฉพาะจากการสัมผัสและเล่นกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว แพะ หมู ม้า
    • การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี แปรง ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน
    • สัมผัสกับสถานที่ชื้นแฉะ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเชื้อรา เช่น ห้องน้ำ ห้องล็อคเกอร์ สระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า

    หนังศีรษะเป็นเชื้อรา สาเหตุและอาการของกลากที่หนังศีรษะ

    หนังศีรษะเป็นเชื้อราคือ สาเหตุของโรคกลากที่หนังศีรษะ  หรือบางครั้งเรียกว่า “ชันนะตุ” ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั่วไป โดยเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (dermatophyte) เช่นเดียวกับโรคสังคังและน้ำกัดเท้า

    อาการที่พบได้บ่อยของโรคกลากที่หนังศีรษะ ประกอบด้วย

    • เป็นผื่นวงแหวนบริเวณหนังศีรษะ
    • ผิวหนังบริเวณศีรษะแห้ง ตกสะเก็ด
    • หนังศีรษะลอกเป็นขุย คล้ายรังแค
    • มีอาการคันหรือเจ็บหนังศีรษะ
    • ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จนเห็นหนังศีรษะสีขาว
    • มีก้อนนูนกลัดหนองบนหนังศีรษะ หรือรอยกลาก

    ทั้งนี้ โรคกลากที่หนังศีรษะมักพบในเด็กอายุระหว่าง 3-14 ปี และในผู้ใหญ่ที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง

    นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนชื้น อาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณหนังศีรษะ และการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้หนังศีรษะเป็นเชื้อราด้วย

    วิธีรักษาหนังศีรษะเป็นเชื้อรา

    หนังศีรษะเป็นเชื้อรา หรือโรคกลากที่หนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังที่รักษาให้หายได้ โดยวิธีรักษาทำได้ดังนี้

    • สระผมด้วยแชมพูยา หรือแชมพูซึ่งมีตัวยาคีโตโคนาโซล (ketoconazole) หรือ ซีเลเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) เป็นส่วนผสม อย่างไรก็ตาม แชมพูยาไม่สามารถกำจัดเชื้อราที่หนังศีรษะให้เกลี้ยงไปได้ทั้งหมด ดังนั้น การรักษาหนังศีรษะเป็นเชื้อราควรรับประทานยาร่วมด้วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
    • รับประทานยาต้านเชื้อรา อาทิ กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ซึ่งคนไข้จำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือจนกว่าผมที่ร่วงเนื่องจากโรคกลากที่หนังศีรษะจะงอกกลับมาเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในกรณีคนไข้แพ้ยากริซีโอฟุลวิน คุณหมอจะเลือกจ่ายยาต้านเชื้อราอื่นให้แทน เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงหนังศีรษะเป็นเชื้อรา สามารถทำได้ ดังนี้

    • สระผมเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อล้างละอองเชื้อราบนหนังศีรษะหรือเส้นผมออก และควรเป่าผมให้แห้ง เพื่อลดโอกาสที่เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ในภายหลัง เนื่องจากหนังศีรษะอับชื้น
    • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น อาทิ หวี หมอน ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เนื่องอาจมีละอองของเชื้อราอยู่ และทำให้หนังศีรษะเป็นเชื้อราได้
    • ใช้บริการห้องล็อคเกอร์หรือห้องน้ำสาธารณะอย่างระมัดระวัง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวที่ชื้นหรือสกปรก เนื่องจากเป็นบริเวณที่สะสมของเชื้อรา และควรล้างมือให้สะอาดหลังจากใช้บริการสถานที่สาธารณะ
    • นำสัตว์เลี้ยงไปตรวจโรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าสัตว์เลี้ยงอาจเป็นพาหะของเชื้อรา นอกจากนั้นหลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือให้สะอาด
    • ตรวจหนังศีรษะทั้งครอบครัว เมื่อพบสมาชิกในครอบครัวมีอาการของหนังศีรษะเป็นเชื้อรา เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อกันได้ง่าย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา