backup og meta

กลากเกลื้อนเกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

    กลากเกลื้อนเกิดจากอะไร

    กลากและเกลื้อน คือ โรคผิวหนัง 2 ชนิดที่อาจพบได้บ่อย อาจสังเกตได้จากผิวหนังมีตุ่ม หรือรอยผื่นแดงเป็นดวงที่มีขอบเป็นสะเก็ด มีอาการคัน สามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น แขน หลัง ลำคอ อย่างไรก็ตาม การทราบว่า กลากเกลื้อนเกิดจากอะไร หรือมีปัจจัยกระตุ้นอะไรบ้าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกลากหรือโรคเกลื้อน และช่วยให้รักษาได้อย่างถูกวิธี

    กลากเกลื้อนเกิดจากอะไร

    กลากและเกลื้อน คือ โรคผิวหนังติดเชื้อ 2 โรค ที่เกิดจากการติดเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยโรคกลากเกิดจากการติดเชื้อเดอร์มาโทไฟท์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อราอยู่บนผิวหนังส่วนที่มีเคราติน ส่วนโรคเกลื้อนเกิดจากการติดเชื้อมาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว แต่อาจถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่างทำให้เจริญเติบโตมากผิดปกติจนนำไปสู่การติดเชื้อ

    ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจกระตุ้นให้เกิดโรคกลากหรือโรคเกลื้อนได้

    • สภาพอากาศที่ร้อนชื้น
    • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น ระบายความร้อนและเหงื่อยาก
    • การใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว

    ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ติดเชื้อรา และเชื้อเจริญเติบโตแพร่กระจายจนส่งผลให้เกิดจุดเล็ก ๆ หรือผิวหนังเปลี่ยนสี พร้อมมีอาการคันระคายเคือง

    กลากกับเกลื้อน แตกต่างกันอย่างไร

    ถึงแม้ว่ากลากกับเกลื้อน จะมีสาเหตุ ปัจจัย และอาการแรกเริ่มที่คล้ายกัน แต่หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่าอาจมีอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน กลากมักเป็นผื่นกลมที่มีขอบนูนเป็นสะเก็ดสีแดง ชมพู น้ำตาล หรือเทา ซึ่งอาจกระจายตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา ลำตัว ก้น และมีอาการคัน และอาจพบบนหนังศีรษะ ซอกนิ้วเท้าได้ด้วย หากเป็นกลากที่หนังศีรษะอาจทำให้ผมร่วง มีแผลขนาดเล็ก และมีอาการเจ็บเมื่อสัมผัส

    ส่วนเกลื้อน จะมีลักษณะเป็นจุดด่างสีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาลขนาดเล็กหรือใหญ่ประมาณ 1-4 นิ้ว ซึ่งอาจปรากฏเป็นสีอ่อนหรือสีเข้มกว่าสีผิวโดยรอบ พบได้มากบริเวณคอ หน้าอก แขน หลัง บางคนอาจมีอาการคัน เป็นสะเก็ด และมีอาการบวมแดงร่วมด้วย

    วิธีรักษา กลากเกลื้อน

    กลาก เกลื้อน อาจรักษาได้ด้วยยาดังต่อไปนี้

    • ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ใช้สำหรับทาบริเวณผิวหนัง เล็บ วันละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาการติดเชื้อรา และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ไม่ควรให้บริเวณที่ทายาสัมผัสน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันประสิทธิภาพการรักษาลดลง
    • คีโตโคนาโซล ป็นยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบครีม เจล ใช้รักษากลาก เกลื้อน ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ แล้วเช็ดให้แห้งก่อนทายา โดยปกติแนะนำให้ทายาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ใช้รักษาผิวหนังที่ติดเชื้อรา เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ แล้วเช็ดให้แห้งก่อนทายา โดยปกติแนะนำให้ทายาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
    • ไมโคนาโซล (Miconazole) ช่วยรักษาการติดเชื้อราที่ส่งผลให้เกิดผื่นแดง โดยยาจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ใช้ทาลงบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง บางคนอาจมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากอาจต้องเปลี่ยนยาหรือรักษาด้วยวิธีอื่น
    • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นกลากเกลื้อน ติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ยานี้จะลดอาการคัน ขจัดรังแค ชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • ยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

    วิธีป้องกันกลากเกลื้อน

    วิธีป้องกัน กลาก เกลื้อน อาจมีดังนี้

    1. รักษาสุขอนามัย ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ หลังจากสัมผัสสิ่งรอบตัว และอาบน้ำทันทีหลังทำกิจกรรมที่เสี่ยงสัมผัสสิ่งสกปรกหรือทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ฝึกซ้อมกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกหรือเหงื่อที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    2. ไม่สวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือรัดแน่นเกินไป เมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น ควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันเหงื่อออกมากเกินไป
    3. ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หวี
    4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้ผิวมันมากเกินไป เช่น การตากแดดเป็นเวลานาน การออกกำลังกาย การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา