backup og meta

แชมพูขจัดรังแค มีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    แชมพูขจัดรังแค มีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะอย่างไร

    แชมพูขจัดรังแค เป็นแชมพูที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันและรักษารังแคบนหนังศีรษะ โดยควรเลือกส่วนผสมที่มีส่วนช่วยผลัดเซลล์ผิว ยับยั้งการแบ่งเซลล์ผิวที่มากเกินไป ลดการอักเสบ ลดอาการคันและป้องกันความระคายเคือง รวมถึงช่วยต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดรังแค

    รังแคเกิดจากอะไร

    รังแค คือ ภาวะปกติของผิวบนหนังศีรษะที่สามารถลอกเป็นขุย ซึ่งไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคร้ายแรง แต่อาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและอาจทำให้เสียความมั่นใจ โดยรังแคอาจมีสาเหตุมาจากความระคายเคืองของหนังศีรษะที่มันหรือแห้ง การติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่กินน้ำมันบนหนังศีรษะเป็นอาหาร การแพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม รวมถึงโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลากเกลื้อน

    ปัญหารังแคบนหนังศีรษะที่ไม่รุนแรงอาจสามารถรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมในการช่วยกำจัดรังแค บำรุงหนังศีรษะและบำรุงเส้นผม

    แชมพูขจัดรังแค มีส่วนผสมอะไรบ้าง

    ส่วนผสมในแชมพูขจัดรังแคที่อาจช่วยลดปัญหารังแค ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของรังแค อาจมีดังนี้

    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจช่วยขจัดรังแคบนหนังศีรษะ
    • ซัลเฟอร์ (Sulfur) มีฤทธิ์เป็นสารละลายเคราตินซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่บนผิวหนัง ช่วยต้านจุลชีพและยังช่วยเป็นสื่อกลางในการช่วยผลัดเซลล์ผิว
    • น้ำมันดินถ่านหิน (Coal Tar) เป็นน้ำมันดินที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน และอาจมีส่วนช่วยในการขจัดรังแค เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวและอาจช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อรามาลาสซีเซียที่เป็นสาเหตุของรังแค
    • ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) มีคุณสมบัติช่วยควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ชั้นล่างและการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่เสื่อมสภาพ รวมถึงอาจช่วยควบคุมการผลิตน้ำมันบนผิวหนังให้เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรามาลาสซีเซียที่เป็นสาเหตุของรังแคได้อีกด้วย
    • สเตียรอยด์ มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ต้านการงอกขยายของรังแคและช่วยควบคุมความผิดปกติของหนังกำพร้าที่อาจแปรสภาพไปเป็นรังแค รวมถึงอาจช่วยควบคุมอาการคัน ลอกเป็นขุย และความระคายเคือง
    • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อรามาลาสซีเซียที่เป็นสาเหตุของรังแค รวมถึงยังอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคต่อมไขมันอักเสบและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่มากเกินไป
    • ยาต้านเชื้อราอิมิดาโซล (Imidazole Antifungal Agents) มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราที่อาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและรังแค เช่น เชื้อรามาลาสซีเซีย เชื้อราแคนดิดา (Candida)

    การป้องกันรังแค

    ขั้นตอนการดูแลสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดรังแคได้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี วิตามินบี และไขมันดี เช่น ปลาทะเล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ผักใบเขียว เนื้อวัว ตับ ไข่ โฮลวีท ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง  ถั่วลิสง ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมให้แข็งแรง
    • จัดการกับความเครียด ความเครียดอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ซึ่งอาจทำให้ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลทำให้เกิดโรคทางผิวหนังและอาจกระตุ้นให้เกิดรังแคหรือทำให้อาการที่มีอยู่แย่ลงได้
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก
    • ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะเป็นประจำ สำหรับผู้ที่มีหนังศีรษะมันควรสระผมทุกวันเพื่อลดความมันที่อาจเป็นสาเหตุของรังแค ส่วนผู้ที่มีหนังศีรษะแห้งควรสระผมวันเว้นวันเพื่อไม่ให้หนังศีรษะแห้งเกินไปและควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น นอกจากนี้ ในขณะสระผมควรนวดหนังศีรษะเบา ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้มาเลี้ยงหนังศีรษะและเส้นผม ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดรังแคได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมมากเกินไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมอาจมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และอาจกระตุ้นให้หนังศีรษะเกิดความมันเพิ่มขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา