backup og meta

ครีมทาผิวขาว มีส่วนผสมอะไรบ้างที่ควรรู้และควรหลีกเลี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ครีมทาผิวขาว มีส่วนผสมอะไรบ้างที่ควรรู้และควรหลีกเลี่ยง

    ครีมทาผิวขาว เป็นครีมที่ช่วยปรับสภาพผิวให้ขาวกระจ่างใสขึ้น อาจมีจุดประสงค์เพื่อรักษาปัญหาผิว เช่น จุดด่างดำ รอยแดงจากสิว จุดด่างอายุ สีผิวไม่สม่ำเสมอ โดยครีมทาผิวขาวจะมีส่วนผสมที่ช่วยลดหรือยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำให้ผิวแลดูขาวกระจ่างใสขึ้น นอกจากนี้ บางส่วนผสมอาจช่วยบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ลดเลือนริ้วรอย ลดการอักเสบของผิวหรืออาจป้องกันการเกิดสิวได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับส่วนผสมในครีม เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนผสมบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวและสุขภาพ

    ครีมทาผิวขาวใช้แล้วขาวจริงไหม

    ครีมทาผิวขาว เป็นครีมที่อาจช่วยปรับสภาพผิวให้ขาวกระจ่างใสขึ้น โดยอาจใช้สำหรับการรักษารอยดำ รอยแดง จุดด่างที่อาจเกิดขึ้นตามอายุ รอยแผลเป็นจากสิว หรืออาจช่วยลดการผลิตเม็ดสีเมลานิน ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ผลิตโดยเซลล์ผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นตัวกำหนดความสว่างหรือความเข้มของสีผิว ทำให้ผิวทั่วเรือนร่างขาวกระจ่างใสขึ้น ซึ่งครีมทาผิวขาวอาจช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้ตามสีผิวตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น โดยสังเกตได้จากสีผิวใต้ร่มผ้า ท้องแขนหรือหน้าท้อง แต่อาจต้องใช้ระยะเวลานานและต้องทาครีมเป็นประจำทุกวัน

    อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อครีมทาผิวขาวทุกชนิดควรอ่านฉลากเพื่อดูส่วนผสมของครีมให้เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล และควรหลีกเลี่ยงครีมทาผิวขาวที่มีส่วนผสมของสารปรอท สเตียรอยด์ และไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เพราะเป็นสารที่ต้องได้รับการสั่งจ่ายโดยคุณหมอเท่านั้น เพราะหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อผิวหนังได้ นอกจากนี้ หากผลิตภัณฑ์ไม่ระบุส่วนผสมและไม่มีเครื่องหมายจากองค์การอาหารและยา หรือ อย. ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอาจมีส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังหรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    ส่วนผสมสำคัญในครีมทาผิวขาว มีอะไรบ้าง

    ในครีมทาผิวขาวอาจมีส่วนผสมสำคัญหลายชนิด ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น ดังนี้

    • กลูต้าไธโอน (Glutathione) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต่อต้านการผลิตเม็ดสีเมลานิน ทั้งยังอาจช่วยปรับให้ผิวขาวกระจ่างใสและอาจใช้รักษารอยดำบนผิวได้
    • แอล-แอสคอร์บิก แอซิด (L-Ascorbic Acid หรือ Vitamin C) สารสกัดวิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยส่งเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนในร่างกาย ช่วยสมานแผล ลดรอยแผลเป็น ช่วยลดเลือนริ้วรอย ปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ทั้งยังอาจช่วยให้รอยดำและความหมองคล้ำดูจางลง ส่งผลทำให้ผิวขาวกระจ่างใสและเรียบเนียนขึ้น
    • วิตามินบี 3 หรือ นิโคตินาไมด์ (Nicotinamide) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผิวหนัง ช่วยลดรอยแดง รอยดำ ควบคุมความมัน ทั้งยังอาจช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เรียบเนียน รูขุมขนดูแคบลง ปกป้องผิวจากแสงแดด ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น และอาจช่วยลดริ้วรอยและความเหี่ยวย่นได้
    • วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิว ช่วยลดเลือนฝ้าและจุดด่างดำ ทำให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น
    • อัลฟ่า อาร์บูติน (Alpha Arbutin) เป็นสารสกัดที่ปลอดภัย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ผิวขาวขึ้น ด้วยการยับยั้งการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินแต่ไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีผิว อาจมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น ระคายเคืองผิว ผื่นแดง เป็นสิวในผู้ที่มีผิวบอบบางมาก แต่ไม่ทำให้เกิดฝ้าถาวร
    • กรดโคจิก (Kojic Acid) เป็นสารสกัดต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดเลือนความหมองคล้ำและจุดด่างดำ ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดสีเมลานิน ซึ่งอาจทำให้ผิวขาวขึ้น
    • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านความเสื่อมสภาพของเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนบริเวณหนังกำพร้า ทั้งยังอาจช่วยต้านแบคทีเรีย และต้านการอักเสบ สามารถใช้รักษาสิว ฝ้าและความหมองคล้ำ ทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้น
    • กรดแลคติก (Lactic Acid) เป็นกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินและขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ส่งผลทำให้ผิวดูขาวกระจ่างใสขึ้น
    • สารสกัดจากรากชะเอมเทศ (Licorice Extract) อาจช่วยต้านการอักเสบของผิวหนัง ต้านริ้วรอย ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว และช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินทำให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น
    • สารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพผิว ช่วยต้านการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดริ้วรอย ทั้งยังช่วยปกป้องผิวจาการทำร้ายของแสงแดด และอาจทำให้ผิวขาวกระจ่างใส
    • เซลาไมด์ (Ceramide) อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและความแข็งแรงให้กับผิว ปกป้องผิวจากฝ้า กระและจุดด่างดำ และอาจช่วยลดการผลิตเม็ดสีผิวทำให้ผิวขาวขึ้น

    ส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยงในครีมทาผิวขาว

    ในครีมทาผิวขาวอาจมีสารอันตรายบางชนิดที่ต้องได้รับการควบคุมและสั่งจ่ายโดยคุณหมอเท่านั้น เนื่องจากหากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยงอาจมีดังนี้

    • สารสเตียรอยด์ หรือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานิน ทำให้ผิวขาวขึ้น เป็นกลุ่มยาที่อยู่ในการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเป็นสารอันตรายหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ผู้ใช้จะต้องได้รับการสั่งจ่ายยาและอยู่ในการควบคุมของคุณหมอเท่านั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ผิวอักเสบ สิวเห่อ ผิวบางจนเห็นเส้นเลือดที่ผิวหนัง ทั้งยังอาจทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังแตกง่ายจนเห็นเป็นสีแดง สีม่วงตามผิวหนังหน้าท้อง ต้นขาหรือใบหน้า
    • สารปรอท มีฤทธิ์ลดการผลิตเม็ดสีเมลานินซึ่งอาจทำให้ผิวขาวขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สารปรอทเป็นสารที่ห้ามใช้ในส่วนผสมของเครื่องสำอางทุกชนิด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ เช่น อาการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง นอกจากนี้ หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพิษสะสมในผิวหนัง ซึ่งอาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดโรคโลหิตจาง โรคตับ โรคไตและอาจทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบได้
    • ไฮโดรควิโนน ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีทำให้ผิวขาวขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ใช้สารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้า กระและจุดด่างดำได้ไม่เกิน 2% และห้ามใส่ในเครื่องสำอางทุกชนิด เนื่องจาก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแสบร้อน ตุ่มแดง ผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา และหากใช้เป็นเวลานานอาจเสี่ยงในการเกิดฝ้าถาวรและมะเร็งผิวหนังได้
    • เรตินอยด์ (Retinoid) หรือกรดวิตามินเอ ออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างเม็ดสีและเร่งการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งหากใช้อย่างผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการระคายเคืองผิว ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดด ทั้งยังอาจทำให้ผิวด่างขาวหรือทำให้ผิวคล้ำชั่วคราว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา