backup og meta

ฉีดผิวขาว ขั้นตอน และความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ฉีดผิวขาว ขั้นตอน และความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ฉีดผิวขาว คือ การฉีดวิตามินหรือสารกลูตาไธโอน (Glutathione) เข้าสู่ผิวหนัง เพื่อให้ผิวหนังแลดูขาวขึ้นชั่วคราว ผู้ที่อยากมีผิวขาวควรได้รับการฉีดผิวขาวสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การฉีดผิวขาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้น ไม่สบาย ก่อนฉีดผิวขาว จึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด และควรเลือกใช้บริการจากคลินิกเสริมความงามหรือสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือและได้มาตรฐาน

[embed-health-tool-bmr]

ฉีดผิวขาว คืออะไร

ฉีดผิวขาว คือการทำให้ผิวขาวขึ้น พร้อมลดริ้วรอยต่าง ๆ ด้วยการฉีดสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่หลอดเลือดดำหรือชั้นผิวหนังโดยตรง

จุดเด่นของการฉีดผิวขาว คือเห็นผลไวกว่าการทำให้ผิวขาวขึ้นด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่าง การทาครีม การขัดผิว การรับประทานอาหารเสริม

อย่างไรก็ตาม การฉีดผิวขาวไม่สามารถทำให้ผู้ที่มีผิวคล้ำโดยกำเนิด ขาวขึ้นเทียบเท่ากับผู้ที่มีผิวสีอ่อนโดยกำเนิดได้

นอกจากนี้ การฉีดผิวขาวยังไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับหรือไต รวมถึงผู้ป่วยภาวะธาตุเหล็กเกิน (Hemochromatosis) เพราะการฉีดผิวขาวจะทำให้ร่างกายเสียสมดุลแร่ธาตุ เนื่องจากวิตามินที่ถูกฉีดเข้าร่างกาย มักทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารได้มากกว่าเดิม

สารหรือวิตามินที่ใช้เพื่อฉีดผิวขาว

เมื่อไปรับบริการฉีดผิวขาว คลินิกเสริมความงามหรือสถานพยาบาลจะฉีดสารอาหารต่าง ๆ ให้ โดยอาจฉีดให้เพียงชนิดเดียว หรือฉีดแบบผสม ตามสูตรของสถานพยาบาลนั้น ๆ โดยปกติจะมีคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลสูตรที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

สารอาหารดังกล่าว อาจประกอบด้วย

  • วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินซึ่งพบได้ในผักและผลไม้ต่าง ๆ โดยเฉพาะในส้มหรือมะนาว ทั้งนี้ วิตามินซีจะช่วยให้ผิวขาวขึ้น สีผิวสม่ำเสมอ ลดริ้วรอย รวมถึงกระตุ้นการสร้างโปรตีนคอลลาเจน (Collagen) ในผิวหนัง ทำให้ผิวหนังดูอ่อนวัยและเต่งตึง
  • วิตามินอี (Vitamin E) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในน้ำมันพืช ธัญพืช และไข่ไก่ ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ การฉีดวิตามินอีจะช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น และช่วยป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากรังสีอัลตราไวโอเลต
  • กลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ การฉีดกลูตาไธโอน ทำให้ร่างกายลดการสร้างเม็ดสีผิวคล้ำหรือเมลานิน (Melanin) และเพิ่มการผลิตฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) หรือเม็ดสีผิวขาวมากขึ้น

ขั้นตอนการฉีดผิวขาว

เมื่อไปรับการฉีดผิวขาว ขั้นตอนที่อาจพบได้ จะเป็นดังนี้

  • ตรวจสุขภาพผิวโดยคุณหมอ เพื่อประเมินว่าสารอาหารสูตรใดเหมาะสม
  • ทำความสะอาดร่างกายส่วนที่จะถูกฉีดผิวขาว
  • ฉีดวิตามินหรือ กลูตาไธโอนเข้าสู่ร่างกาย
  • หากไม่พบผลข้างเคียงหลังฉีดผิวขาว เช่น ผื่นแพ้ เวียนศีรษะ สามารถกลับบ้านได้เลย

ฉีดผิวขาว เห็นผลเมื่อไร

การฉีดผิวขาว จะเห็นผลชัดเจนหลังการฉีดครั้งที่ 3 โดยการฉีดครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 3 อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หรือภายในสัปดาห์เดียว

ทั้งนี้ ผลของการฉีดผิวขาวจะไม่คงอยู่ถาวร ดังนั้น การฉีดผิวขาวจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้คุณสมบัติของวิตามินหรือกลูตาไธโอนคงอยู่ต่อไป

ผลข้างเคียงของการฉีดผิวขาว

เมื่อฉีดผิวขาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่

  • ไข้ขึ้น รู้สึกไม่สบาย หน้าซีด
  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ห้อเลือดหรือรอยช้ำ บริเวณที่ฉีดวิตามินเข้าสู่ร่างกาย
  • เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • อาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น เป็นลมพิษ หรือมีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการฉีดผิวขาว ควรสังเกตอาการของตนเองหลังได้รับการฉีด หากรู้สึกถึงความผิดปกติหลังกลับจากคลินิกเสริมความงามหรือสถานพยาบาล ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำต่อไป

ข้อดีและข้อเสียของการฉีดผิวขาว

ฉีดผิวขาว มีข้อดีและข้อเสีย ดังต่อไปนี้

ข้อดี

  • ทำให้ผิวขาวขึ้นเร็วกว่าการใช้ครีมหรือรับประทานอาหารเสริม
  • ทำให้ผิวหนังเต่งตึง ช่วยลดริ้วรอยต่าง ๆ รวมถึงช่วยป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากรังสีอัลตราไวโอเลต

ข้อเสีย

  • เสียค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเพราะจำเป็นต้องฉีดมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้เห็นผล
  • ผลลัพธ์คงอยู่เพียงชั่วคราว ทำให้ต้องคอยไปฉีดผิวสม่ำเสมอ
  • อาจเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการแพ้สารที่ถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย หรือเลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ไม่สามารถทำให้ผู้ที่มีผิวสีเข้มมีผิวขาวขึ้นเทียบเท่าผู้ที่มีผิวสีอ่อนตามธรรมชาติได้
  • อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับ และไต
  • เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin C. https://www.nhs.uk/conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-c/. Accessed April 24, 2023.

Glutathione – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-717/glutathione. Accessed April 24, 2023.

เจาะประเด็น : ความขาวกับกลูตาไธโอน. https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/11182020-1629. April 24, 2023.

อยากขาว…ฉีดผิวคือทางออกจริงหรือ?. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7-%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD/. Accessed April 24, 2023.

กลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ขาวจริงหรือ??. https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article/6/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%98%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%99-glutathione-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD/. Accessed April 24, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลเซอร์รอยสิว ข้อควรระวัง และวิธีดูแลผิวหลังเลเซอร์

สารกลูต้าไธโอน ทำให้ผิวขาวได้อย่างไร เป็นอันตรายหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา