backup og meta

หูดที่เท้า สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    หูดที่เท้า สาเหตุ อาการ และการรักษา

    หูดที่เท้า เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) บนผิวหนังชั้นนอก สังเกตได้จากอาการตุ่มนูน ผิวหนังแข็ง เป็นแผล อาจหายได้เองในบางคนโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการเจ็บปวดขณะเดิน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับการรักษาทันที

    คำจำกัดความ

    หูดที่เท้า คืออะไร

    หูดที่เท้า คือ ตุ่มนูนแข็งที่ปรากฏในบริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า และซอกนิ้วเท้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลหรือรู้สึกเจ็บปวดขณะเดิน หูดที่เท้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีบนผิวหนังชั้นนอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

    อาการ

    อาการของหูดที่เท้า

    อาการของหูดที่เท้า มีดังนี้

    • ตุ่มนูนแข็ง มีลักษณะแบนราบ เป็นวง ผิวรอบนอกแข็ง และมีจุดสีดำเล็ก ๆ ตรงกลาง
    • ผิวหนังบริเวณที่เป็นหูดหยาบกร้าน
    • บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดขณะเดิน หรือเมื่อบริเวณที่เป็นหูดถูกเสียดสี

    หูดที่เท้าสามารถเกิดขึ้นได้ในจุดต่าง ๆ ทั่วเท้า โดยเฉพาะในฝ่าเท้า นิ้วเท้า และซอกนิ้วเท้า หากมีเลือดออกที่หูด เจ็บปวดขณะเดิน เป็นหูดซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง หรือหากอาการหูดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

    สาเหตุ

    สาเหตุของการเกิดหูดที่เท้า

    หูดที่เท้ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีบนผิวหนังชั้นนอก ที่อาจได้รับผ่านทางบาดแผล ผิวหนังแตก หรือผิวหนังที่บอบบางด้านฝ่าเท้า โดยเฉพาะเมื่อเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่เสี่ยง เช่น สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม โรงยิม เพราะไวรัสเอชพีวีจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของหูดที่เท้า

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นหูดที่เท้า มีดังนี้

    • เด็กและวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเป็นหูดที่เท้า
    • ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นหูดที่เท้ามาก่อน
    • การเดินเท้าเปล่าบริเวณที่มีความชื้น เช่น สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม ห้องล็อกเกอร์
    • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู รองเท้า ถุงเท้า

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยหูดที่เท้า

    คุณหมออาจวินิจฉัยหูดที่เท้าได้จากการดูร่องรอยของหูด หรืออาจเก็บตัวอย่างผิวหนังชั้นบนสุดไปตรวจในห้องปฏิบัติการว่าหรือติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เสี่ยงต่อการเป็นหูดที่เท้าหรือไม่

    การรักษาหูดที่เท้า

    ปกติแล้วหูดที่เท้าสามารถหายเองได้ แต่ไม่เสมอไป หากหูดโตมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเริ่มมีอาการเจ็บปวดขณะเดิน หรืออยากให้หูดหายเร็วขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การกำจัดหูดด้วยไนโตรเจนเหลว โดยการนำไนโตรเจนเหลวพ่นในบริเวณที่เป็นหูด เพื่อให้เนื้อเยื่อที่หูดแข็งตัวและหลุดออกไปเอง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทุก ๆ 1-2 เดือน จนกว่าหูดจะหายไป ผลข้างเคียงของการกำจัดหูดที่ฝ่าเท้าด้วยไนโตรเจนเหลวคืออาจทำให้เกิดแผลพุพอง เจ็บปวด และสีผิวเปลี่ยนแปลง
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาที่มีกรดซาลิไซลิก เพื่อทำให้ผิวหนังชั้นนอกลอกออกและอาจทำให้หูดหลุดออกได้ อีกทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และชะลอการเจริญเติบโตของหูด
    • เลเซอร์ คือ การใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูง ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูดตีบตัน และทำให้หูดหลุดออก ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
    • ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ให้สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดหูดได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ผ่าตัด เป็นวิธีกำจัดหูดที่รวดเร็วและใช้ระยะเวลาไม่นาน โดยคุณหมออาจทำการตัดหูดออกด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า หรืออาจรักษาควบคู่กับการใช้ไนโตรเจนเหลว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้ผิวหนังที่เท้าเป็นรอยแผลเป็นได้

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหูดที่เท้า

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหูดที่เท้า มีดังนี้

    • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ถุงเท้า ผ้าขนหนู รองเท้า
    • ไม่ควรเดินเท้าเปล่า โดยเฉพาะบริเวณที่อาจมีความชื้นสูง เช่น รอบสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม โรงยิม
    • ล้างเท้าให้สะอาดก่อนเข้าบ้านและเช็ดให้แห้งสนิท
    • ตัดเล็บเท้าและทำความสะอาดเท้าเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
    • ไม่ควรสัมผัสกับหูด และควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสผู้อื่นหรือสิ่งของเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา