backup og meta

ยาทาแผลเป็น มียาอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีฤทธิ์อย่างไร

ยาทาแผลเป็น มียาอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีฤทธิ์อย่างไร

แผลเป็น เกิดจากกระบวนการฟื้นฟูตัวเองของผิวหนังหลังเป็นแผลหรือได้รับบาดเจ็บ ทำให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอย แบน นูน หรือยุบเป็นหลุม ทั้งนี้ วิธีดูแลแผลเป็นให้มีขนาดเล็กลงหรือมีสีที่ใกล้เคียงกับผิวหนังโดยรอบ ควรทา ยาทาแผลเป็น อย่างเจลซิลิโคน คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

[embed-health-tool-bmi]

แผลเป็นเกิดจากอะไร

แผลเป็นเกิดจากกระบวนการฟื้นฟูตัวเองของผิวหนังหลังเป็นแผลหรือได้รับบาดเจ็บ เมื่อผิวหนังเป็นแผลหรือบาดเจ็บ ร่างกายจะสร้างโปรตีนคอลลาเจน (Collagen) แล้วส่งไปยังบริเวณเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บเพื่อสมานบาดแผล ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่มีลักษณะแตกต่างจากผิวหนังบริเวณรอบ ๆ โดยแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คีลอยด์ (Keloid) มีลักษณะนูน มันเงา ไม่มีขน ขยายใหญ่เกินขอบแผลเดิม และอาจมีสีเข้มกว่าผิวหนังโดยรอบ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตคอลลาเจนมากเกินไปเพื่อสมานบาดแผล จนส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ
  • แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) มีลักษณะนูนคล้ายคีลอยด์ แต่ไม่ใหญ่เกินขอบแผลเดิม และมักปรากฏขึ้นหลังผิวหนังได้รับบาดเจ็บหรือเป็นสิวไปแล้ว 1-2 เดือน
  • หลุมสิว (Atrophic Acne Scar) เป็นรอยบุ๋มหรือการยุบตัวของผิวหน้า ทำให้ใบหน้าดูขรุขระ ไม่เรียบเนียน ทั้งนี้ หลุมสิวมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายสร้างคอลลาเจนและเนื้อเยื่อได้ไม่เพียงพอต่อความเสียหายของผิวหนัง
  • แผลเป็นหดรั้ง (Scar Contracture) มักมีสาเหตุมาจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ทำให้ผิวหนังเกิดการตึงและดึงรั้งจนผิดรูป ในบางรายอาจทำให้อวัยวะผิดรูปและเคลื่อนไหวลำบาก
  • แผลเป็นแบน (Flat Scar) ผิวหนังบริเวณที่เกิดบาดแผลจะมีลักษณะนูนขึ้นก่อนจะค่อย ๆ แบนลงหลังจากผิวหนังฟื้นฟูตัวเองเสร็จสมบูรณ์ โดยในช่วงแรกแผลเป็นจะมีสีชมพูหรือแดง แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจเปลี่ยนสีกลายเป็นสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังรอบ ๆ

ยาทาแผลเป็น มียาอะไรบ้าง

โดยปกติ แผลเป็น มักยากต่อการรักษา แต่คุณหมอหรือเภสัชกรอาจจ่ายซิลิโคนในรูปแบบครีมหรือเจลให้ โดยซิลิโคนมีฤทธิ์ทำให้แผลเป็นมีขนาดเล็กลงและมีสีอ่อนลง เนื่องจากคุณสมบัติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เพิ่มความความชุ่มชื้นให้เซลล์ชั้นนอกสุดของผิวหนัง ทำให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนส่วนเกินน้อยลง ซึ่งมีผลให้แผลเป็นนุ่มขึ้นและแบนลงกว่าเดิม
  • ปรับการทำงานของโปรตีนโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) บางชนิด ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างคอลลาเจนและการย่อยสลายคอลลาเจนส่วนเกินบริเวณแผลเป็น จึงไม่เกิดรอยนูนเด่นชัด
  • ป้องกันแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังผ่านเนื้อเยื่อแผลเป็น ช่วยระงับการผลิตคอลลาเจนมากเกินไป

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของเจลซิลิโคนต่อคีลอยด์และแผลเป็นนูน ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Cutaneous and Aesthetic Surgery ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพของเจลซิลิโคนในผู้ที่มีแผลเป็นจำนวน 30 ราย  พบว่ารอยแผลเป็นรูปแบบต่าง ๆ ดีขึ้น ผลข้างเคียงต่ำ ผู้ที่มีแผลเป็นรู้สึกพึงพอใจกับผลลัพธ์จากการใช้เจลซิลิโคน จึงสรุปว่า เจลซิลิโคนนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับใช้เป็น ยาทาแผลเป็น แต่ใช้ระยะเวลานาน 4-6 เดือน

สำหรับ ยาทาแผลเป็น ชนิดอื่น ๆ ที่คุณหมอหรือเภสัชกรอาจจ่ายให้ ได้แก่

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ ในรูปแบบครีม มีฤทธิ์ทำให้แผลเป็นมีขนาดเล็กลง ด้วยการลดเส้นใยคอลลาเจนของเนื้อเยื่อแผลเป็นใต้ผิวหนัง และยังมีคุณสมบัติลดอาการบวม แดง หรือการอักเสบของแผลเป็น และลดอาการคัน ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจเลือกฉีดยานี้เข้าสู่แผลเป็นเพื่อรักษาอาการ
  • ไฮโดรควิโนน เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ลดการผลิตเม็ดสีผิว เมื่อทาบริเวณแผลเป็นจึงอาจช่วยให้สีของแผลเป็นจางลง หรือมีโทนสีที่ใกล้เคียงกับผิวหนังโดยรอบ อย่างไรก็ตาม อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ทำให้ผิวหนังมีแห้ง เป็นสีแดง แสบเล็กน้อย และเกิดอาการแพ้ได้

การรักษา แผลเป็น ด้วยวิธีอื่น

นอกจาก ยาทายาแผลเป็น ในรายที่อาการรุนแรง หรือแผลเป็นทำให้เกิดความไม่มั่นใจ รู้สึกเป็นกังวล คุณหมออาจแนะนำการรักษาแผลเป็นด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • การลอกผิวด้วยกรด หรือทากรดผลไม้หรือกรดวิตามินเอลงบนผิวหน้าหรือผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ผิวลอกและมีผิวหนังที่แข็งแรงขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผิวหนังส่วนที่เป็นแผลเป็นดูเรียบเนียนกว่าเดิม
  • ปลูกถ่ายผิวหนัง เป็นการผ่าตัดนำผิวหนังส่วนที่สุขภาพดี เรียบเนียนไปเชื่อมต่อติดกับผิวหนังส่วนที่เป็นแผลเป็น มักใช้สำหรับรักษาแผลเป็นหดรั้งหรือคีลอยด์ระดับรุนแรง
  • การฉายแสงเลเซอร์ กระตุ้นผิวหนังชั้นหนังแท้ให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ เพื่อซ่อมแซมใบหน้าหรือแผลเป็นส่วนที่เป็นหลุมสิวให้ดูเรียบเนียนขึ้น
  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดนำผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลเป็นออกจากใบหน้าหรือร่างกาย แล้วเย็บผิวหนังให้ติดกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Efficacy of Silicone Gel for the Treatment of Hypertrophic Scars and Keloids. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2918339/. Accessed November, 2022

SCARS: WHO GETS AND CAUSES. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/scars-causes. Accessed November, 2022

Treatment. https://www.nhs.uk/conditions/scars/treatment/. Accessed November, 2022

Cosmetic Procedures: Scars. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-scars. Accessed November, 2022

แผลเป็น. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=548. Accessed November, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลเซอร์แผลเป็น ผลข้างเคียง และวิธีดูแลผิวหลังเลเซอร์

ฉีดคีย์ลอยด์ รักษาแผลเป็นนูน มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา