backup og meta

ริ้วรอยใต้ตา สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    ริ้วรอยใต้ตา สาเหตุและการรักษา

    ริ้วรอยใต้ตา เป็นริ้วรอยที่อาจเกิดขึ้นจากความเสื่อมสภาพของผิวตามอายุ การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบดวงตาซ้ำ ๆ เนื่องจากการขยับใบหน้าบ่อยครั้ง การยิ้มบ่อย การขยี้ตาบ่อย หรืออาจเกิดจากโครงสร้างเนื้อเยื่อผิวถูกทำลายจากรังสียูวีในแสงแดดและการสูบบุหรี่ ซึ่งการปกป้องและดูแลรักษาผิวอย่างถูกต้องเหมาะสมอาจช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยใต้ดวงตาก่อนวัยได้

    ประเภทของริ้วรอยใต้ตา

    ริ้วรอยใต้ตาอาจแบ่งได้เป็นหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

    • ริ้วรอยที่เกิดจากการแสดงสีหน้า (Dynamic Wrinkle) เป็นริ้วรอยที่เกิดขึ้นจากการหดตัวซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง มักเกิดขึ้นบริเวณหว่างคิ้ว ใต้ตา หน้าผาก โดยเฉพาะเวลายิ้มหรือขมวดคิ้วจะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ขยับและหดตัวบ่อยครั้ง
    • ริ้วรอยที่เกิดขึ้นอย่าวถาวร (Static Wrinkle) เป็นริ้วรอยที่เกิดขึ้นอย่างคงที่แม้จะไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการพัฒนาของริ้วรอยที่เกิดจากการแสดงสีหน้าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ริ้วรอยเกิดขึ้นอย่างถาวร นอกจากนี้ การสัมผัสกับแสงแดด ควันบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเร่งให้เกิดริ้วรอยชนิดนี้ได้เช่นกัน
    • ริ้วรอยที่เกิดขึ้นตามอายุ (Wrinkle Folds) เป็นริ้วรอยที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของผิวหนัง เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นโครงสร้างเนื้อเยื่อผิวย่อมเสื่อมสภาพลงทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อยและเกิดเป็นริ้วรอย

    สาเหตุของการเกิด ริ้วรอยใต้ตา

    ริ้วรอยใต้ตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นโครงสร้างเนื้อเยื่อผิว ความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวอาจลดลงตามธรรมชาติ จึงส่งผลให้เกิดความหย่อนคล้อยของผิวหนังและเกิดริ้วรอยใต้ตา
    • การขยับใบหน้าซ้ำ ๆ การเคลื่อนไหวใบหน้าหรือแสดงอารมณ์บนใบหน้าบ่อยครั้งจนทำให้ผิวเกิดรอยย่น เช่น การยิ้ม ขมวดคิ้ว การเลิกคิ้ว อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณผิวหนังเกิดการหดตัวซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นร่องและริ้วรอยใต้ตาในที่สุด
    • การสัมผัสกับรังสียูวี แสงแดดเป็นอนุมูลอิสระที่เร่งให้ผิวเสื่อมสภาพ การสัมผัสกับรังสียูวีบ่อยครั้งอาจส่งผลให้คอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อผิวหนังถูกทำลาย ส่งผลให้ผิวสูญเสียความแข็งแรงและความยืดหยุ่น เมื่อเวลาผ่านไปผิวหนังจะเริ่มหย่อนคล้อยและเกิดเป็นริ้วรอยขึ้น
    • การสูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่อาจทำลายคอลลาเจนในผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง รวมถึงยังทำให้ผิวแห้งขาดน้ำ ผิวขาดความชุ่มชื้น และส่งผลให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยได้

    การรักษาริ้วรอยใต้ตา

    การรักษาริ้วรอยใต้ตาอาจทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพผิว หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ ดังนี้

    การใช้ยารักษา

    • ครีมที่มีส่วนช่วยในการลดเลือนริ้วรอย อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล (Retinol) เปปไทด์ (Peptides) และกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดแลคติก (Lactic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านการเกิดริ้วรอย ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวใหม่ และอาจทำให้ริ้วรอยใต้ตาดูตื้นขึ้น
    • ยาเรตินอยด์เฉพาะที่ เช่น เรติโนอิกแอซิด (Retinoic Acid) เรตินาลดีไฮด์ (Retinaldehyde) เป็นยาที่ควรสั่งจ่ายโดยคุณหมอ ซึ่งอาจช่วยลดรอยเหี่ยวย่น รอยด่าง และความหยาบกร้านของผิวหนัง

    การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือเทคนิคอื่น ๆ

    • การใช้ฟิลเลอร์ เป็นการฉีดสารเติมเต็มผิวอย่างคอลลาเจน ไขมัน และกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) เข้าไปในบริเวณที่ต้องการ เพื่อให้ผิวดูอวบอิ่มและทำให้ริ้วรอยดูตื้นขึ้น
    • การฉีดโบท็อกซ์ เป็นการฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซิน หรือโบท็อกซ์ เข้าไปในชั้นผิวหนังเพื่อรักษาริ้วรอยใต้ตา โดยการออกฤทธิ์เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและช่วยให้ริ้วรอยตื้นขึ้น
    • การยกกระชับใบหน้า เป็นขั้นตอนการดึงเพื่อยกกระชับกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง เพื่อลดริ้วรอยและความเหี่ยวย่น

    การป้องกัน ริ้วรอยใต้ตา

    ริ้วรอยใต้ตา อาจสามารถป้องกันและชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการหลีกเลี่ยงการออกจากอาคารในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องอยู่กลางแสงแดดควรปกป้องผิวด้วยการใส่ชุดป้องกัน เช่น แว่นกันแดด หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว นอกจากนี้ ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันก่อนออกจากอาคาร โดยควรเลือกครีมกันแดดหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารกันแดด SPF 50 ขึ้นไป และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ครีมมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวได้อย่างเต็มที่
    • ให้ความชุ่มชื้นกับผิว โดยใช้โลชั่น ครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ในการบำรุงผิว โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ เนื่องจากการอาบน้ำอาจล้างเอาน้ำมันตามธรรมชาติออกไปบางส่วนทำให้ผิวแห้งลง ดังนั้น หลังจากอาบน้ำในขณะที่ผิวหมาดควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวทันที เพื่อกักเก็บและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ซึ่งอาจช่วยให้ผิวอิ่มน้ำ ชะลอการเกิดริ้วรอยและความเหี่ยวย่นบนผิวหนังได้
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ สารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินเค วิตามินอี วิตามินเอ อาจมีส่วนช่วยในการเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของโครงสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง รวมถึงอาจช่วยเป็นเกราะป้องกันผิวจากการทำร้ายของอนุมูลอิสระและช่วยป้องกันแสงแดดได้
    • ไม่ควรสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่อาจทำร้ายผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งขาดน้ำ เร่งการเกิดริ้วรอยและอาจทำให้ผิวคล้ำเสีย การเลิกบุหรี่จึงอาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของผิวหนังได้
    • การไม่นอนดึกและหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้ร่างกายสามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา