backup og meta

ลดรอยแตกลาย มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    ลดรอยแตกลาย มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

    รอยแตกลาย หมายถึง รอยแยกหรือรอยแผลเป็นของผิวหนังที่เกิดจากการยืดหรือหดของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว สามารถพบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แก้มก้น หน้าท้อง หน้าอก สะโพก ท้องแขน ต้นขา วิธี ลดรอยแตกลาย อาจทำได้ด้วยการทาครีมที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ หรือกรดไฮยาลูรอนิค เป็นส่วนผสม รวมทั้งการกรอผิวและบำบัดด้วยแสงเลเซอร์

    รอยแตกลาย คืออะไร

    รอยแตกลายคือรอยแผลเป็นบนผิวหนังรูปแบบหนึ่ง มักพบบริเวณหน้าอก หน้าท้อง สะโพก แก้มก้น ต้นขา ท้องแขน น่อง บริเวณข้อต่อหรือรอยพับ โดยมีลักษณะเป็นเส้นสีขาวจาง ๆ หรือเส้นสีชมพูเข้มบนผิวหนัง ไม่มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองร่วมด้วยแต่อย่างใด

    รอยแตกลายเกิดจากการยืดหรือหดตัวของผิวหนังอย่างรวดเร็วที่ส่งผลให้โครงสร้างของโปรตีน คอลลาเจน (Collagen) และอีลาสติน (Elastin) ในผิวหนัง เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน จนเกิดเป็นรอยแตกลาย

    ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดรอยแตกลายมีหลายประการ เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • ร่างกายเจริญเติบโตและรูปร่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
  • การผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอก
  • ความอ้วน
  • การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
  • การใช้ครีมที่มียาแก้อักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นส่วนผสมติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • พันธุกรรม
  • ลดรอยแตกลาย มีวิธีไหนบ้าง

    รอยแตกลายไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังหรือสุขภาพ ในบางรายอาจจางหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา ในขณะที่บางราย รอยแตกลายอาจอยู่ถาวร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรอยแตกลายทำให้ผิวหนังดูไม่สวยงาม และเป็นสาเหตุให้สูญเสียความมั่นใจในการแต่งตัว ดังนั้น หลายคนจึงหาวิธีลดรอยแตกลาย ซึ่งสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • ทาครีม ที่มีเรตินอยด์ หรือกรดไฮยาลูรอนิคเป็นส่วนผสม โดยสารทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในการทำให้รอยแตกลายจางลง อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่มีเรตินอยด์เป็นส่วนผสม เพราะอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
    • บำบัดด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ และให้ผลที่แตกต่างกัน อย่างเลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed Dye Laser) จะไปลดรอยแดงของรอยแตกลายชนิดสีแดง และจะกระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวหนังของร่างกายด้วยความร้อน ทำให้รอยแตกลายเห็นไม่ชัด ขณะที่เลเซอร์แบบเอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) จะกระตุ้นการผลิตเม็ดสีผิว ทำให้รอยแตกลายที่เป็นเส้นสีอ่อนมองเห็นได้ยากขึ้น ปัจจุบันมีการใช้ Fractional Laser มากระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบริเวณรอยแตกลายให้ดูเรียบเนียนมากขึ้น
    • กรอผิวด้วยผลึกแร่หรืออัญมณี เป็นการกำจัดผิวหนังชั้นหนังกำพร้าบริเวณที่มีรอยแตกลายออกด้วยเครื่องมือการทางแพทย์ เพื่อช่วยให้ผิวฟื้นฟูกลับมาพร้อมรอยแตกลายที่จางลง
    • ผ่าตัดหนังหน้าท้อง โดยเฉพาะในกรณีหลังคลอดลูกของหญิงตั้งครรภ์ที่มีรอยแตกลายเป็นจำนวนมาก เพื่อนำผิวหนังหน้าท้องที่มีรอยแตกลายออกจากร่างกาย แล้วเย็บซ่อมผิวหนังและกล้ามเนื้อให้คืนกระชับ ทั้งนี้ การผ่าตัดหน้าท้องเป็นการลดรอยแตกลายที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก่อให้เกิดความเจ็บปวด รวมถึงอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้

    รอยแตกลาย ป้องกันได้หรือไม่

    ในบางราย รอยแตกลายอาจป้องกันได้ด้วยการทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และลดโอกาสเกิดรอยแตกลายเมื่อผิวหนังยืดหรือหดตัวอย่างกะทันหัน ในขณะที่บางราย รอยแตกลายอาจเกิดจากพันธุกรรม จึงอาจป้องกันได้ยาก

    นอกจากนี้ รอยแตกลายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว อาจป้องกันได้โดยการควบคุมอาหารเพื่อป้องกันโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน หรือภายในระยะเวลาอันสั้นเพราะมักทำให้ผิวหนังเกิดการยืดหรือหดตัวอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเกิดรอยแตกลายได้ในที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา