backup og meta

วิธีทำให้หน้าเด็ก มีอะไรบ้าง ทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    วิธีทำให้หน้าเด็ก มีอะไรบ้าง ทำได้อย่างไร

    เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหน้าย่อมเสื่อมสภาพ มีริ้วรอยแห่งวัย หรือดูแก่ลง เพราะร่างกายผลิตโปรตีนคอลลาเจน (Collagen) และอิลาสติน (Elastin) ได้น้อยกว่าเดิม ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหน้าเต่งตึงและยืดหยุ่น ทั้งนี้ วิธีทำให้หน้าเด็ก นั้นมีหลายวิธี เช่น ทาครีมกันแดดและครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ

    ผิวหน้าเสื่อมสภาพ มีริ้วรอย เกิดจากอะไร

    โดยปกติแล้ว ร่างกายจะผลิตคอลลาเจนและอิลาสตินซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหน้าเต่งตึงและยืดหยุ่น แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวัย 35-40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะผลิตโปรตีนทั้งสองชนิดได้น้อยลง ทำให้ผิวหน้าเริ่มเหี่ยวย่นและมีริ้วรอยแห่งวัย

    นอกจากนั้น ผิวหนังยังประกอบไปด้วยกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) ที่ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในผิวและคงความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า เมื่ออายุมากขึ้น ระดับกรดไฮยาลูโรนิคในร่างกายจะลดลง ทำให้ผิวหน้าขาดความชุ่มชื้น แห้ง และเห็นริ้วรอยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเร่งให้ผิวหน้าดูแก่กว่าวัย ได้แก่

    • รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด ทำลายคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนัง เมื่อผิวหน้าต้องเผชิญกับแสงแดดบ่อยครั้ง จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหน้าหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยก่อนวัยและมีจุดด่างดำมากขึ้น
    • บุหรี่ เมื่อสารนิโคตินในบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างเอนไซม์ตัวหนึ่งขึ้นมา และไปรบกวนการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยรักษาความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหน้าเริ่มอ่อนแอ เกิดริ้วรอยได้ง่าย
    • การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อซ้ำไปซ้ำมา เช่น การขมวดคิ้ว การเลิกคิ้ว การย่นหน้า การหัวเราะ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ามากขึ้น

    วิธีทำให้หน้าเด็ก มีอะไรบ้าง

    วิธีกระชับผิวหน้าและลดเลือนริ้วรอยต่าง ๆ อาจช่วยให้หน้าดูเด็กลง ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ เพื่อปกป้องผิวหน้าจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของครีมกันแดดต่อการป้องกันผิวหนังเสื่อมตามวัย ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 55 ปี จำนวน 903 ราย ออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของครีมกันแดด กับยาหลอกและสารเบตา-แคโรทีน (Beta Carotene) เป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี ผลปรากฏว่า การทาครีมกันแดดเป็นประจำอาจมีส่วนช่วยชะลอผิวหนังเสื่อมสภาพได้
    • ทาครีมบำรุงผิว โดยเฉพาะครีมที่ผสมเรตินอล (Retinoid) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน จึงอาจช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้ หรือครีมที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูรอนิคซึ่งอาจช่วยรักษาความยืดหยุ่นของผิวหนังและลดความลึกของร่องริ้วรอยให้ตื้นขึ้นได้
    • งดหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติทำให้ผิวขาดน้ำหรือแห้ง เมื่อผิวแห้งมักเหี่ยวย่นได้ง่ายกว่าปกติและดูไม่สดใส งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาผิวหน้าเสื่อมสภาพเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เผยแพร่ในวารสาร Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology ปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก หรือมากกว่า 8 แก้ว/สัปดาห์ สัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยบริเวณใบหน้าส่วนบน และการมีถุงใต้ตา
    • รับประทานคอลลาเจนทดแทน งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมต่อผิวหนัง เผยแพร่ในวารสาร Skin Pharmacology and Physiology ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเพศหญิงจำนวน 69 ราย รับประทานคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมและยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงกลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมมีผิวหนังยืดหยุ่นกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานคอลลาเจนทดแทนอาจเป็นหนึ่งใน วิธีทำให้หน้าเด็ก
    • จัดการความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เล่นโยคะ หรือทำสมาธิ เพราะเมื่อมีความเครียด ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดออกมา ทำให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง และมีผลให้ผิวหน้าไม่กระชับหรือขาดความเต่งตึง
    • ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ด้วยการงดสูบบุหรี่ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมง/คืน เพราะร่างกายจะสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ขณะนอนหลับ หากนอนน้อยเกินไปจะทำให้ผิวหน้าได้รับคอลลาเจนไม่เพียงพอ
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ และเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา