backup og meta

สปา คืออะไร มีประโยชน์ต่อผิวอย่างไรบ้าง

สปา คืออะไร มีประโยชน์ต่อผิวอย่างไรบ้าง

สปา (Spa) เป็นการนวดบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ ที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมและอาจดีต่อสุขภาพผิว เช่น อาจช่วยลดปัญหาสิว ลดความหย่อนคล้อย ลดริ้วรอยและอาจช่วยให้ผิวกระจางใสขึ้น ทั้งยังอาจทำให้ผิวแลดูเปล่งปลั่งและสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม การทำสปาอาจมีข้อควรระวังสำหรับบางคน จึงควรศึกษาข้อมูลของสปาแต่ละประเภทก่อนเข้ารับบริการ

สปา คืออะไร

สปา คือ การนวดเพื่อสุขภาพรูปแบบหนึ่งที่ช่วยบำบัดทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยการทำสปาอาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโครงสร้างของชั้นผิว ช่วยลดความหย่อนคล้อย ลดริ้วรอย ลดปัญหาสิว และยังช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ นอกจากนี้ การทำสปายังอาจช่วยลดความเครียด ลดอาการเหนื่อยล้า ทำให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ผิวเปล่งปลั่ง สดชื่นและสุขภาพดีขึ้น

ประเภทของสปาผิว

สปาอาจมีหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทอาจมีประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • การทำสปาสครับผิว เป็นการขัดผิวเพื่อผลัดเซลล์ผิวหนังเก่าที่ตายแล้วและช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่อาจตกค้างบนผิวหนังออก จึงอาจช่วยทำให้ผิวกระจ่างใสและเปล่งปลั่งมากขึ้น
  • การทำสปาพอกผิว เป็นวิธีการพอกผิวด้วยครีมพอกที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น กลูตาโธโอน (Glutathione) อาร์บูติน (Arbutin) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) ที่อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจช่วยบำรุงให้ผิวกระจางใส แข็งแรงและสุขภาพดีขึ้น
  • การทำสปาด้วยการแช่น้ำ เช่น การแช่น้ำเกลือหิมาลายัน การแช่น้ำนม การแช่ด้วยน้ำมันหอมระเหยสมุนไพร ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ทั้งยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้า
  • การทำสปาอบสมุนไพร เป็นการทำสปาอบผิวด้วยไอน้ำและน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร เช่น โหระพา เปลือกส้ม โรสแมรี่ ยูคาลิปตัส ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกายและผิว อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดทำให้รู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้ผิวสุขภาพดีขึ้น
  • การทำสปานวด เป็นการนวดบำบัดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การนวดน้ำมัน การนวดกดจุด การนวดแผนโบราณ การทำสปาประเภทนี้ช่วยผ่อนคลายร่างกาย ลดอาการปวดเมื่อย ปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความหย่อนคล้อยและช่วยให้ผิวสุขภาพดีขึ้น

ประโยชน์ของสปา

การทำสปามีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจซึ่งเป็นการบำบัดจากภายในสู่ภายนอก ช่วยลดความเครียดและผ่อนคลาย ทั้งยังอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพผิว โดยประโยชน์จากการทำสปาอาจมีดังนี้

  1. อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดทำให้ผิวเปล่งปลั่ง

การทำสปาด้วยการนวด การอบสมุนไพรหรือการแช่ตัวในน้ำอุ่น อาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ช่วยให้เลือดลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงผิวได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อโครงสร้างผิวและสุขภาพผิว ทั้งยังช่วยลดความเครียด คลายความเหนื่อยล้า ทำให้ร่างกายสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ส่งผลทำให้ผิวดูเปล่งปลั่งขึ้น

  1. อาจช่วยลดเลือนริ้วรอย

การทำสปาด้วยการนวดอาจช่วยปรับปรุงลักษณะโครงสร้างของผิว โดยการนวดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดสามารถลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงผิวหนังส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ทำให้ผิวยืดหยุ่น กระชับ เต่งตึง ลดเลือนริ้วรอยและอาจช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์

  1. อาจช่วยลดปัญหาสิว

สิวมักเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีและรูขุมขนอุดตันจากสิ่งสกปรก ทำให้ผิวอ่อนแอ ระคายเคืองง่าย แพ้ง่ายและเป็นสิวง่าย การทำสปาจึงอาจช่วยปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ทำให้ผิวแข็งแรง ทั้งยังช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกินที่อุดตันในรูขุมขนออก จึงสามารถช่วยลดปัญหาสิวได้ อย่างไรก็ตาม การสครับผิวบ่อยครั้งหรือรุนแรงเกินไปอาจทำให้ผิวบาง แห้งและระคายเคือง จึงควรทาครีมบำรุงเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวเสมอ

  1. อาจช่วยลดอาการเมื่อยล้าและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

การทำสปาอาจเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยลดอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ส่งผลทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ซึ่งอาจดีต่อสุขภาพจิตและอารมณ์

  1. อาจช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

การทำสปาเป็นการบำบัดที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายจึงดีต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ ช่วยให้นอนหลับสนิทและยาวนานขึ้น ซึ่งการนอนหลับที่ดียังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากในระหว่างการนอนหลับจะเป็นช่วงที่ร่างกายทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน จึงสามารถช่วยลดความเครียดได้

ข้อควรระวังก่อนทำสปา

การทำสปามีข้อควรระวังบางประการที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ มีบาดแผล แผลไหม้ มีลิ่มเลือดอุดตัน การติดเชื้อ กระดูกหัก โรคกระดูกพรุนรุนแรง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาจต้องระวังในการทำสปาเนื่องจากเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บมากขึ้น ติดเชื้อได้ง่าย มีเลือดออกไม่หยุดหรืออาจเสี่ยงกระดูกหักได้เช่นกัน
  • อาจเสี่ยงติดเชื้อหากสถานที่ทำสปาไม่สะอาด โดยเฉพาะการทำสปาที่ต้องใช้อุปกรณ์ส่วนรวม เช่น อ่างแช่ตัว ผ้าขนหนู กรรไกรตัดเล็บ หากไม่ผ่านการทำความสะอาดอย่างเหมาะสมอาจเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อแพร่กระจายได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการทำสปาสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวหนัง เช่น โรคผิวหนัง ผิวไหม้จากแดด เนื่องจาก อาจเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และการทำสปาบางประเภท เช่น การสครับผิว อาจทำให้ผิวไหม้จากแดดระคายเคือง อักเสบและได้รับบาดเจ็บ
  • บางคนอาจมีอาการแพ้น้ำมันหอมระเหยหรือสารบางชนิดในผลิตภัณฑ์นวด จึงควรตรวจสอบและสอบถามกับทางร้านถึงส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้เฉพาะบุคคล
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการทำสปาประเภทแช่น้ำร้อน การนวด การอบสมุนไพร เนื่องจากความร้อนและการนวดกดจุดอาจส่งผลต่อการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพิ่มการไหลเวียนเลือดที่อาจกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Spas: The Risks and Benefits. https://www.webmd.com/beauty/features/spas-the-risks-and-benefits. Accessed May 8, 2022

Massage: Get in touch with its many benefits. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/massage/art-20045743. Accessed May 8, 2022

Rejuvenating facial massage – a bane or boon?. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1046/j.1365-4362.2002.01511.x. Accessed May 8, 2022

The effect of burn rehabilitation massage therapy on hypertrophic scar after burn: A randomized controlled trial. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305417914000655?via%3Dihub. Accessed May 8, 2022

Effects of a skin-massaging device on the ex-vivo expression of human dermis proteins and in-vivo facial wrinkles. https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0172624. Accessed May 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หน้ามันเกิดจากอะไร ควรดูแลผิวหน้าอย่างไร

ฉีดวิตามินซี เพื่อผิวกระจ่างใส ประโยชน์และข้อควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา