backup og meta

หน้ามันใช้อะไรดี และวิธีการดูแลผิวมัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

    หน้ามันใช้อะไรดี และวิธีการดูแลผิวมัน

    หลายคนที่มีปัญหาหน้ามันมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตและความมั่นใจ จึงอาจมีคำถามว่า หน้ามันใช้อะไรดี ที่จะช่วยลดความมันบนใบหน้า ปกป้องผิว และช่วยส่งเสริมสุขภาพผิวให้แข็งแรง ซึ่งการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ลดความมันส่วนเกิน และให้ความชุ่มชื้นกับผิวอยู่เสมอ รวมทั้งการดูแลสุขภาพผิวประจำวันอาจเป็นวิธีที่จะช่วยลดความมันบนใบหน้าได้

    หน้ามัน เกิดจากอะไร

    หน้ามัน เกิดขึ้นเมื่อต่อมน้ำมันใต้รูขุมขนผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป ส่งผลให้ผิวหน้ามีลักษณะมันวาว รูขุมขนกว้างและเป็นสิวง่าย เนื่องจากน้ำมันที่มากเกินไปสามารถผสมกับเซลล์ผิวเก่า เชื้อโรค และขนภายในรูขุมขนจนเกิดเป็นการอุดตันขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาหน้ามันยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น พันธุกรรม ความเครียด ฮอร์โมน แสงแดด สิ่งแวดล้อม การใช้ยาบางชนิด การใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลผิว

    ผู้ที่มีหน้ามันควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

    สำหรับผู้ที่มีผิวหน้ามันอาจมีคำถามว่า หน้ามันใช้อะไรดี เพื่อช่วยลดความมัน ปกป้องผิว และส่งเสริมสุขภาพผิวให้แข็งแรง ซึ่งการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนประกอบสำคัญต่อไปนี้อาจช่วยได้

    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยขจัดความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกบนผิวหนัง มีความอ่อนโยน ไม่ทำให้ผิวแห้ง นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบและลดการเกิดสิวอีกด้วย
    • เรตินอยด์ (Retinoids) ช่วยขจัดความมันส่วนเกินบนผิวและชะลอการผลิตน้ำมันในรูขุมขน รวมทั้งช่วยให้ผิวกระจ่างใสและต่อต้านริ้วรอยแห่งวัย
    • กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวหนังเก่า พร้อมเผยผิวใหม่ที่กระจ่างใสและสุขภาพดี ทั้งยังช่วยลดความมันส่วนเกินบนผิว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้มากเกินไปเพราะการผลัดเซลล์ผิวบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวระคายเคือง และอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนผิวให้มากขึ้น
    • กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ให้ความชุ่มชื้นกับผิวและช่วยปรับสมดุลของผิว ลดความแห้งกร้าน ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ซึ่งช่วยให้ผิวแข็งแรงและสุขภาพดีมากขึ้น
    • ไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการผลิตน้ำมันในรูขุมขน และอาจทำให้รูขุมขนแคบลง นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรงและให้ความชุ่มชื้นกับผิวอีกด้วย
    • สควาเลน (Squalane) เป็นส่วนผสมที่สกัดจากพืช มีคุณสมบัติคล้ายกรดไฮยาลูโรนิคที่ช่วยเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นให้แกผิว ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันและความระคายเคือง

    วิธีการดูแลผิวมันที่เหมาะสม

    นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ช่วยลดความมันบนใบหน้าแล้ว การดูแลผิวประจำวันด้วยวิธีต่อไปนี้ก็อาจช่วยลดความมันได้

    • ล้างหน้า ควรล้างหน้าเป็นประจำทุกวันทั้งเช้าและเย็น แต่หากหน้ามันมากโดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ควรล้างหน้าด้วยเช่นกันเพื่อขจัดความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดสิว นอกจากนี้ ควรเลือกโฟมล้างหน้าสูตรอ่อนโยน ช่วยขจัดความมันแต่ไม่ทำให้หน้าแห้งตึง เพื่อให้หน้ายังคงความชุ่มชื้นซึ่งจะไม่กระตุ้นให้ผิวผลิตน้ำมันมากขึ้นไปอีก
    • ปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป ใส่หมวกหรือกางร่ม หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านในช่วงเวลาที่มีแดดจัด เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาผิว เช่น ผิวอ่อนแอ หน้ามัน ริ้วรอย จุดด่างดำ
    • ใช้กระดาษซับหน้ามันและหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า โดยการกดกระดาษซับหน้ามันเบา ๆ บนใบหน้า และทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อให้แผ่นกระดาษดูดซับความมันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าเพราะบนมืออาจมีความมันและสิ่งสกปรกที่ทำให้เกิดสิว
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ทุกชนิด รวมทั้งธัญพืช เมล็ดพืช ถั่ว โปรตีนไม่ติดมัน น้ำมันปลา และไขมันดี เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากอาหาร ช่วยส่งเสริมสุขภาพผิวจากภายในสู่ภายนอก นอกจากนี้ การดื่มน้ำมากขึ้นอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอีกด้วย
    • จัดกการกับความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อน ทำงานอดิเรก ฟังเพลง วาดรูป อ่านหนังสือ เนื่องจากความเครียดอาจกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคร์ติซอล (Cortisol) ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผิว ทำให้ผิวอ่อนแอ อาจกระตุ้นให้เกิดความมันและเป็นสิวง่าย
    • นอนหลับให้เพียงพอ ในระหว่างนอนหลับร่างกายจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและปรับสมดุลฮอร์โมน จึงควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพื่อช่วยให้ผิวดูสุขภาพดีและเปล่งปลั่ง
    • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อคอลลาเจนในผิวหนัง และทำให้หลอดเลือดหดตัวส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ลดลง จึงอาจทำให้ผิวเสื่อมสภาพและอ่อนแอง่าย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา