backup og meta

เลเซอร์ สำหรับผิวหนัง ประโยชน์และความเสี่ยง

เลเซอร์ สำหรับผิวหนัง ประโยชน์และความเสี่ยง

เลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาปัญหาผิวหนัง เช่น จุดด่างดำ แผลเป็น ไฝ ริ้วรอย รอยสัก ทั้งยังช่วยปรับผิวให้สม่ำเสมอ เรียบเนียนและกระชับมากขึ้น ใช้เวลาในการรักษาน้อย แผลหายเร็วกว่าการรักษาแบบผ่าตัด ลดความเจ็บปวดและอาจลดโอกาสเกิดแผลเป็น

เลเซอร์ผิวหนัง คืออะไร

เลเซอร์ผิวหนัง คือ การใช้ลำแสงสั้น ๆ และเข้มข้นส่องไปที่ผิวหนังที่มีปัญหา ปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์เพื่อลดปัญหาริ้วรอยหรือรอยแผลเป็น ลดการสร้างเม็ดสีในผิวใหม่ทำให้ผิวดูสม่ำเสมอขึ้น นอกจากนี้ การเลเซอร์ยังช่วยกระชับผิวและขจัดรอยโรค เช่น มะเร็ง เนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง โดยกลไกการรักษาด้วยเลเซอร์มีหลากหลาย เช่น ลำแสงจากเลเซอร์ที่ขจัดผิวออกทีละชั้นตั้งแต่ผิวชั้นนอก หนังกำพร้าไปจนถึงชั้นหนังแท้ พร้อมทั้งกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ส่งผลให้ผิวใหม่เรียบเนียนและกระชับขึ้น

ประเภทของการทำเลเซอร์

เลเซอร์ มีหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีความเหมาะสมต่อการรักษาและปรับปรุงสุขภาพผิวที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) เป็นเลเซอร์ลอกผิวที่ใช้รักษารอยแผลเป็น หูด ริ้วรอย และจุดบกพร่องอื่น ๆ ของผิวหนังที่อยู่ลึกลงไป
  • เลเซอร์เออร์เบียม (Erbium YAG Laser) ช่วยส่งเสริมการสร้างคอลลาเจนใหม่ นิยมในการรักษาริ้วรอย ความหย่อนคล้อยของผิวหนัง และจุดด่างดำที่เกิดจากอายุ
  • เลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed-Dye Lasers หรือ PDL) เป็นเลเซอร์ที่ดูดซับเม็ดสีเพื่อลดรอยแดง รอยดำ เส้นเลือดฝอย และช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
  • แฟรคชันนัลเลเซอร์ (Fractional laser) ช่วยรักษาผิวทีละส่วนโดยไม่มีการรบกวนเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบ ๆ ซึ่งสามารถช่วยรักษาริ้วรอยบนผิวหนังที่เกิดขึ้นตามอายุ ช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ลง

ประโยชน์ของเลเซอร์ผิวหนัง

เลเซอร์อาจมีประโยชน์ต่อปัญหาผิวหนังในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การเลเซอร์ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ หูด ติ่งเนื้อ ตุ่มหรือก้อนบางชนิด
  • การเลเซอร์ปานน้ำตาล ปานดำ กระตื้น กระลึก กระแดด รอยสักและรอยดำบางชนิด
  • การเลเซอร์เส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าหรือขา รอยแดง ปานแดง และแผลเป็นชนิดสีแดง
  • การเลเซอร์กำจัดขน
  • การเลเซอร์ลดริ้วรอย ตีนกา แผลเป็นชนิดหลุม แผลเป็นจากสิวหรืออีสุกอีใส จุดด่างดำ

อย่างไรก็ตาม ชนิดของเลเซอร์อาจขึ้นอยู่กับปัญหาผิวของแต่ละคนและการพิจารณาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่มีปัญหาสภาพผิวอื่น ๆ เช่น ร่องแก้ม ผิวหย่อนคล้อย คางสองชั้น หนังตาตก สามารถรักษาด้วยเลเซอร์ได้หากอาการไม่รุนแรง แต่อาจไม่ได้ผลดีเท่าการผ่าตัด

ความเสี่ยงของการเลเซอร์ผิวหนัง

การเลเซอร์ผิวหนังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ ดังนี้

  • แดงบวม คัน และปวด หลังจากการทำเลเซอร์อาจทำให้มีอาการคัน บวมและแดงเกิดขึ้นนานหลายเดือน หรืออาจทำให้ปัญหาผิวที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย
  • สิว การทาครีมหรือใช้ผ้าพันแผลหนา ๆ ปิดแผลบนใบหน้าหลังการเลเซอร์ อาจทำให้เกิดสิวหรือทำให้เกิดตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ชั่วคราวได้
  • การติดเชื้อ การเลเซอร์อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา ซึ่งการติดเชื้อที่อาจพบได้บ่อย คือ การอักเสบจากไวรัสเริม ซึ่งเป็นไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในผิวหนังของผู้ที่เคยเป็นเริมมาก่อน
  • การเปลี่ยนแปลงของสีผิว หลังการเลเซอร์อาจทำให้ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือจางลง มักจะสังเกตได้ชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 หลังเลเซอร์ และในผู้ที่ผิวคล้ำสีผิวอาจเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
  • รอยแผลเป็น อาจมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะทำให้เกิดแผลเป็นถาวร
  • ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) การเลเซอร์ใกล้กับเปลือกตาอาจทำให้เปลือกตาเปิดออกจนมองเห็นด้านในของเปลือกตา

การทำเลเซอร์อาจไม่แนะนำในผู้ที่กำลังใช้ยาหรือมีภาวะเหล่านี้

  • ผู้เป็นโรคภูมิต้านตนเองหรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การทำเลเซอร์อาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลหรือมีรอยไหม้เล็ก ๆ ที่อาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอติดเชื้อง่ายขึ้น
  • กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร การเลเซอร์มีกระแสไฟฟ้าที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • กำลังกินยารักษาสิวไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) อาจทำให้ผิวแห้งมากซึ่งไม่แนะนำในการทำเลเซอร์เพราะอาจทำให้ผิวบาดเจ็บ จึงควรให้คุณหมอตรวจสภาพผิวก่อน หากสภาพผิวไม่แห้งมากก็สามารถทำเลเซอร์ได้
  • มีสีผิวเข้ม การทำเลเซอร์ในผู้ที่มีผิวเข้มมากอาจเสี่ยงเกิดผิวไหม้หรือการบาดเจ็บได้
  • มีแนวโน้มที่จะเกิดรอยแผลเป็นได้ การทำเลเซอร์บางชนิดเป็นการใช้ลำแสงและความร้อนส่องบนผิวหนัง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีผิวบอบบางมากและเป็นรอยแผลเป็นง่าย
  • มีการฉายรังสีที่ใบหน้า การฉายรังสีทำให้ผิวบางและอ่อนโยน การทำเลเซอร์ซ้ำในบริเวณที่ฉายรังสีอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือบาดเจ็บได้
  • มีแนวโน้มเป็นโรคเริมหรือกำลังติดเชื้อไวรัสเริม เนื่องจากการโดนแสงแดดจัด ความร้อน รอยไหม้ หรือแผล อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคเริมกำเริบได้ ดังนั้น ก่อนทำเลเซอร์ควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเพื่อหาแนวทางป้องกันการกำเริบของโรคเริม

การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์

เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนและเพื่อให้ผิวใหม่มีสุขภาพดี ควรดูแลผิวหลังทำเลเซอร์ ดังนี้

  • ไม่ควรเกาบริเวณที่เลเซอร์ เนื่องจากหลังการรักษาผิวจะบอบบาง มีรอยแดง บวม คัน หรือแสบ ประมาณ 2-3 วัน การเกาอาจทำให้เกิดแผลเป็นหรือนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • ทำความสะอาดบริเวณที่ทำเลเซอร์วันละ 2-5 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • ประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็งเป็นเวลา 15 นาที ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงหรือตามต้องการ โดยเฉพาะในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก
  • ทาปิโตรเลียมเจล ครีมให้ความชุ่มชื้นหรือครีมยาปฏิชีวนะ เช่น บาซิทราซิน (Bacitracin) ในบริเวณที่เลเซอร์วันละ 2 ครั้ง จนกว่าผิวหนังจะหายดี
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือการขัดผิวที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองบริเวณที่เลเซอร์
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือกิจกรรมหนัก ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดงหลังทำเลเซอร์ เช่น ทำสวนกลางแจ้ง ออกกำลังกายความเข้มข้นสูง
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้แผลสมานตัวช้าลง
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปทุกวัน เพื่อปกป้องผิวที่สร้างใหม่จากการทำร้ายของยูวีในแสงแดด

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

“เลเซอร์ผิวหนัง” อีกวิธีสำหรับการรักษาและฟื้นฟูสภาพผิวหนัง. https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08312020-1416. Accessed March 1, 2022

เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=30. Accessed March 1, 2022

Laser Skin Resurfacing. https://www.webmd.com/beauty/laser-skin-resurfacing. Accessed March 1, 2022

Laser Skin Resurfacing: Top 8 Things You Need to Know. https://www.americanboardcosmeticsurgery.org/skin-resurfacing/the-top-8-things-you-need-to-know-about-laser-skin-resurfacing/. Accessed March 1, 2022

Laser resurfacing. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/laser-resurfacing/about/pac-20385114. Accessed March 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/06/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แตงกวาดูแลผิวใต้ตา ได้อย่างไรบ้าง

รังสีอัลตราไวโอเลต ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา