backup og meta

แผลรถล้ม ทำยังไงให้หายไว

แผลรถล้ม ทำยังไงให้หายไว

แผลรถล้ม เป็นแผลที่เกิดจากการกระแทกหรือการขีดข่วนของวัตถุกับผิวหนังโดยตรง รวมถึงอาจเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ชนหรือรถเสียการทรงตัวจนทำให้ร่างกายเกิดรอยฟกช้ำ แผลถลอก แผลเปิดขนาดใหญ่ หรือการบาดเจ็บจากภายใน ซึ่งความรุนแรงของแผลรถล้มอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุ หากแผลมีขนาดใหญ่มากหรือเกิดอาการบาดเจ็บภายในควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

[embed-health-tool-bmr]

ลักษณะของแผลรถล้มที่อาจได้พบบ่อย

แผลรถล้มสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย หากเกิดการกระแทกหรือการขีดข่วนจนได้รับบาดเจ็บ อาจทำให้มีอาการฟกช้ำ แผลถลอก แผลเปิดขนาดใหญ่ หรือการบาดเจ็บจากภายใน ดังนี้

  • เนื้อเยื่ออ่อนได้รับบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท เนื้อเยื่อบริเวณต้นคอ เป็นแผลรถล้มที่อาจพบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นแผลที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างรุนแรง อาจเกิดขึ้นในระหว่างรถล้ม รถชน การกระแทกที่กระดูกสันหลังจนกระทบกับเนื้อเยื่ออ่อนจนได้รับบาดเจ็บ
  • แผลจากการถูกขูดหรือบาด เป็นลักษณะแผลที่เกิดขึ้นจากการโดนของมีคม เช่น แก้ว กระจก ก้อนหิน เศษวัตถุที่แตกหักจากรถ ขูดหรือบาดที่ผิวหนังจนอาจเกิดเป็นรอยถลอกหรือรอยแผลลึก
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นในขณะหยุดรถกะทันหันหรือรถชนที่ทำให้ศีรษะเคลื่อนที่ไปตามแรงเหวี่ยง จนชนเข้ากับวัตถุรอบข้างและเกิดเป็นแผลช้ำหรือหัวแตก
  • การบาดเจ็บที่แขนและขา เป็นแผลรถล้มที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ มักเกิดรอย แผลรถล้มที่เข่า ข้อศอก แขน และขา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางของการกระแทก จนอาจทำให้เกิดรอยช้ำ แผลถลอก ขาแพลง หรือกระดูกหัก
  • การบาดเจ็บที่หน้าอก มักเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก จนอาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำหรืออาจเกิดการบาดเจ็บภายใน

แผลรถล้ม ควรดูแลอย่างไร

แผลรถล้ม ทําไงให้หายไว การดูแลและทำความสะอาดแผลรถล้มอย่างถูกต้องอาจช่วยให้แผลสมานตัวเร็วขึ้น และป้องกันการติดเชื้อได้ โดยวิธีการดูแลแผลรถล้มอาจทำได้ ดังนี้

การห้ามเลือด

ประเมินความรุนแรงของบาดแผลเบื้องต้น หากแผลรถล้มมีขนาดเล็กอาจใช้มือที่ล้างทำความสะอาดแล้วกดแผลค้างไว้ เพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัวและสามารถห้ามเลือดได้ แต่หากแผลมีขนาดใหญ่ให้ใช้ผ้าสะอาดกดแผลไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล

การทำความสะอาดแผลรถล้ม

  • กำจัดเศษฝุ่นหรือสิ่งตกค้างที่อยู่ในแผลออกให้หมด จากนั้นล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จากนั้นซับแผลให้แห้งสนิท
  • เช็ดทำความสะอาดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณโดยรอบ ไม่ควรราดแอลกอฮอล์ลงบนแผลโดยตรง เพราะแอลกอฮอล์อาจทำลายเนื้อเยื่อผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้แผลหายช้าได้

ใช้ยารักษาแผล

แผลรถล้ม ใช้อะไรทา ควรเลือกใช้ยารักษาแผลโพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-Iodine) หรือยาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เช่น แบคซิทราซิน (Bacitracin) ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยทาบริเวณแผลและควรเปิดแผลไว้จะช่วยให้แผลแห้งและหายเร็วขึ้น แต่หากแผลมีขนาดใหญ่มากให้ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซที่สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรค

ควรทำตามขั้นตอนล้างทำความสะอาดแผลและใช้ยาทาแผลเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือหากแผลสกปรกก็สามารถทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลได้ทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

3 ขั้นตอน ห้ามเลือดอย่างถูกวิธีในสถานการณ์ฉุกเฉิน. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/3-ขั้นตอน-ห้ามเลือดอย่าง/#:~:text=วิธีห้ามเลือด,กดลงไปเพื่อห้ามเลือด. Accessed September 7, 2022

Wound assessment and management. https://www.rch.org.au/rchcpg/hospital_clinical_guideline_index/Wound_assessment_and_management/. Accessed September 7, 2022

How Does My Wound Heal, and How Do I Treat It?. https://www.webmd.com/first-aid/ss/slideshow-how-does-your-wound-heal. Accessed September 7, 2022

How Wounds Heal. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/how-wounds-heal. Accessed September 7, 2022

Wounds – how to care for them. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/wounds-how-to-care-for-them. Accessed September 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/05/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลถลอก รักษายังไงให้หายอย่างรวดเร็ว

แผลหนอง หรือ แผลเป็นหนอง อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา