backup og meta

Debridement คือ อะไร ช่วยในการรักษาบาดแผลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    Debridement คือ อะไร ช่วยในการรักษาบาดแผลอย่างไร

    Debridement คือ วิธีการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล เพื่อช่วยให้แผลฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น โดยทั่วไป นิยมใช้วิธี Debridement กับแผลเรื้อรัง แผลที่ฟื้นฟูได้ช้ากว่าปกติ รวมถึงแผลจากไฟไหม้อย่างรุนแรง

    Debridement คือ อะไร

    Debridement คือการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล เพื่อช่วยให้แผลฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้นและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ

    ปกติแล้ว นิยมใช้วิธีการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมกับแผลแผลเรื้อรัง แผลที่ฟื้นฟูตัวเองช้ากว่าปกติ แผลติดเชื้อ แผลไฟไหม้รุนแรง รวมถึงแผลที่อาจทำให้เนื้อเยื่อตาย เช่น แผลบริเวณเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน

    Debridement มีกี่รูปแบบ

    การกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมมีหลายรูปแบบ ดังนี้

    Autolytic Debridement

    Autolytic Debridement เป็นการปิดแผลด้วยผ้าพันแผลชนิดพิเศษ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูดซับสารคัดหลั่งช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นที่เหมาะสม ผู้ป่วยรู้สึกสบายแผล ไม่เจ็บปวด และทำให้ร่างกายจัดการเนื้อเยื่อที่ตายและสิ่งแปลกปลอมด้วยกระบวนการธรรมชาติ

    ทั้งนี้ Autolytic Debridement จะใช้เวลาหลายวัน และเหมาะกับแผลขนาดเล็กที่ไม่พบการติดเชื้อ รวมถึงแผลกดทับ

    Biological Debridement

    Biological Debridement หรือบางครั้งเรียกว่า หนอนบำบัด (Maggot Therapy) เป็นการปล่อยหนอนแมลงวันเข้าไปในแผล แล้วปิดด้วยผ้าพันแผล เพื่อให้หนอนกินเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และหลั่งสารต้านแบคทีเรียออกมา

    โดยทั่วไป วิธี Biological Debridement จะใช้เวลาครั้งละประมาณ 24 ถึง 72 ชั่วโมง

    Enzymatic Debridement

    Enzymatic Debridement เป็นการใช้เจลหรือครีมที่มีเอนไซม์ทาลงไปบริเวณบาดแผล เพื่อให้เอนไซม์กำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในบาดแผล

    อย่างไรก็ตาม Enzymatic Debridement ไม่เหมาะกับบาดแผลขนาดใหญ่และบาดแผลที่พบการติดเชื้อระดับรุนแรง

    Mechanical Debridement

    Mechanical Debridement เป็นการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมจากวัสดุบางอย่างหรืออาศัยสภาพแวดล้อมบางอย่าง ซึ่งมีหลายวิธี เช่น

    • บำบัดด้วยน้ำ หรือการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายด้วยน้ำที่กำลังไหลอยู่ เช่น การแช่แผลในอ่างน้ำวน อาบน้ำ หรือฉีดน้ำเข้าสู่บาดแผล
    • การปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่เปียก แล้วลอกผ้าพันแผลออกเมื่อแห้ง โดยเนื้อเยื่อที่ตายแล้วจะติดออกมาพร้อมกับผ้าพันแผล
    • การใช้แผ่นปิดแผลโพลีเอสเตอร์ ปิดไปบนแผลแล้วลอกออกเพื่อให้เนื้อเยื่อและสิ่งสกปรกหลุดออกมา

    Surgical Debridement

    Surgical Debridement เป็นการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกจากบาดแผลด้วยมีดผ่าตัด กรรไกร หรือเครื่องมือขูดทางการแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปมีขั้นตอนดังนี้

    1. คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผล รวมถึงผิวหนังโดยรอบ
    2. คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ตรวจดูความลึกของบาดแผล และสำรวจสิ่งแปลกปลอมในบาดแผล
    3. คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออกจากบาดแผล แล้วล้างแผลให้

    โดยทั่วไป วิธี Surgical Debridement นิยมใช้กับแผลที่ลึกหรือมีขนาดใหญ่ รวมถึงแผลที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วด้วยวิธีอื่น

    Debridement ให้ความรู้สึกเจ็บหรือไม่

    การ กำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอม แบบต่าง ๆ จะให้ความรู้สึกเจ็บ ในระดับต่อไปนี้

  • Autolytic Debridement เจ็บเล็กน้อย
  • Biological Debridement เจ็บเล็กน้อย
  • Enzymatic Debridement เจ็บเล็กน้อย
  • Mechanical Debridement เจ็บมากกว่า 3 แบบแรก และคุณหมออาจให้รับประทานยาแก้ปวดด้วย
  • Surgical Debridement โดยทั่วไป คุณหมอจะให้ยาชาหรือยาสลบกับคนไข้ก่อน ทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออกจากบาดแผล
  • Debridement มีอาการข้างเคียงอย่างไร

    การกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจพบอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

    • บาดแผลมีอาการระคายเคือง
    • บาดแผลมีเลือดออก
    • เนื้อเยื่อสุขภาพดีบริเวณรอบ ๆ บาดแผลได้รับความเสียหาย
    • อาการแพ้
    • บาดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย

    การดูแลบาดแผลหลัง Debridement

    หลังกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมหมดไป ควรดูแลบาดแผลตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • เปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวัน หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ
    • ดูแลให้ผ้าพันแผลแห้งอยู่เสมอ โดยหลีกเลี่ยงการลงสระว่ายน้ำ หรือใช้น้ำล้างบริเวณบาดแผล
    • รักษาความสะอาดของบาดแผล ด้วยการล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสบาดแผล
    • ควรนั่งหรือนอนบนที่นอนนิ่มๆ เพื่อลดการกดทับน้ำหนักลงบนบาดแผล
    • ไปพบคุณหมอ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อบริเวณบาดแผล เช่น อาการบวม รู้สึกเจ็บปวด แผลมีกลิ่นเหม็น มีหนอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา