backup og meta

ระวัง! ‘กินหวาน กินแป้ง’ มากไป เสี่ยงหน้าแก่ก่อนวัยไม่รู้ตัว

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Pattarapa Thiangwong


เขียนโดย Pattarapa Thiangwong · แก้ไขล่าสุด 11/07/2023

    ระวัง! ‘กินหวาน กินแป้ง’ มากไป เสี่ยงหน้าแก่ก่อนวัยไม่รู้ตัว

    ‘น้ำตาล’ จัดว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เพราะร่างกายของคนเรานั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่หากบริโภคมากเกินไปนอกจากจะเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และอื่น ๆ อีกมากมายแล้ว รู้หรือไม่? ว่าการกินน้ำตาลหรือของหวานที่มีน้ำตาลสูงอย่าง ชาไข่มุก ไอศกรีม เค้ก รวมถึงอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว และขนมปังในปริมาณมากเป็นประจำ อาจทำให้คุณหน้าแก่ก่อนวัยโดยไม่ทันได้ตั้งตัว!  

    น้ำตาลและแป้งทำให้ ‘หน้าแก่เร็ว’ ได้อย่างไร? 

    ใครที่ชอบกินของหวานและแป้งบ่อยๆ ต้องระวังไว้ให้ดี เพราะอาหารประเภทแป้งอย่างข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ผักที่มีแป้งสูง เช่น เผือก มันสำปะหลัง และข้าวโพด เมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกย่อยและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลก่อนจะนำส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งการกินของหวานและแป้งปริมาณมากเป็นประจํานั้นส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ที่เป็นสาเหตุของความชราก่อนวัยอันควร หรือ Premature Aging 

    กินอะไร ไม่แก่เร็ว

    โดยปฏิกิริยายาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อโมเลกุลของน้ำตาลที่เรากินเข้าไปเกาะติดกับโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอวัยวะรวมถึงเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย ก่อให้เกิดสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) หรือสารเร่งแก่ ซึ่งสารดังกล่าวจะส่งผลให้อีลาสตินและคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนังเสื่อมสภาพลงและเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวของเรามีความยืดหยุ่นน้อยลง เกิดปัญหาผิวหย่อนคล้อย และยังยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ด้วย แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการสะสมของ AGEs บริเวณผิวหนังจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ แต่การกินอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการไกลเคชั่นเร็วขึ้น 

    นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผิวหนังแล้ว AGEs ยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมาย เนื่องจากเมื่อ AGEs ผ่านเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ จะส่งผลให้เซลล์บริเวณนั้นตายหรือเสื่อมสมรรถภาพในการทํางานลง อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะเครียดทางออกซิเดชัน (Oxidative Stress) และการอักเสบ ซึ่งนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอัลไซเมอร์ 

    กินหวาน หน้าแก่

    เคล็ดลับชะลอวัย ต้านผิวแก่เร็วจาก AGEs 

    หน้าแก่ก่อนวัย ริ้วรอย และปัญหาผิวหย่อนคล้อยจากการบริโภคน้ำตาลหรือ แป้งมากเกินไปสามารถป้องกันได้ด้วยเคล็ดลับการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ลดการบริโภคน้ำตาล โดยควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลลงในอาหารหรือเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดง น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม ไซรัป และน้ำตาลที่สกัดจากข้าวโพด นอกจากนี้ ควรจำกัดปริมาณการกินขนมหวานในปริมาณที่พอดี 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างหนัก รวมถึงอาหารที่ปรุงสุกด้วยการทอดเนื่องจากมีปริมาณของสารเร่งแก่หรือ AGEs ค่อนข้างสูง และควรหันมากินอาหารประเภทโฮลฟู้ดส์ (Whole Foods) ซึ่งเป็นอาหารผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุดแทน 
  • เลือกกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาในห้องทดลองพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ เช่น วิตามินซี และเควอเซทิน ที่สามารถขัดขวางการสร้าง AGEs ได้ 
  • รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสกัดจากดอกซากุระ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าสารสกัดจากดอกซากุระสามารถยับยั้งการผลิต AGEs และอาจเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านความชราของผิวหนัง เนื่องจากสามารถช่วยป้องกันการเกิดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าส่วนประกอบสำคัญในสารสกัดจากดอกซากุระอย่าง CQ คาเฟโออิล กลูโคส ( Cafeoyl Glucose ) และ QG เควอเซทิน กลูโคไซด์ ( Qurecetin Glucoside ) มีประสิทธิภาพช่วยลดอนุมูลอิสระที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบสําคัญ (Reactive Oxygen Species, ROS) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาไกลเคชั่นได้
  • แม้ว่าการกินแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายและทำให้เกิดปัญหาหน้าแก่ก่อนวัย อย่างไรก็ตาม พลังงานจากแป้งและน้ำตาลก็ยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการทำงานของสมอง ดังนั้น เราจึงควรเลือกรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณคาร์โบไฮเดรต (รวมน้ำตาล) ที่ควรรับประทานในแต่ละวันคือ 225-325 กรัม และควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัมต่อวัน 

     

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Pattarapa Thiangwong


    เขียนโดย Pattarapa Thiangwong · แก้ไขล่าสุด 11/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา