backup og meta

ขนคุดที่ขา อาการ สาเหตุ และการรักษา

ขนคุดที่ขา อาการ สาเหตุ และการรักษา

ขนคุดที่ขา เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากรูขุมขนบริเวณขาอุดตัน ส่งผลให้เส้นขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังได้ จนเกิดเป็นตุ่มหรือผื่นบวม แดง ผิวแห้ง โดยปกติแล้ว ขนคุดที่ขามักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือคัน และไม่เป็นอันตราย แต่หากติดเชื้อก็อาจสร้างความเจ็บปวดได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและป้องกันขนคุดที่ขา อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

ขนคุดที่ขา คืออะไร

ขนคุดที่ขา คือ ภาวะผิวหนังทั่วไปที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เกิดจากเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วอุดตันรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังได้ และกลายเป็นตุ่มหรือผื่นเล็ก ๆ ที่อาจบวม แดง และมีผิวแห้ง บางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย นอกจากบริเวณขา ขนคุดมักพบบนบริเวณต้นแขน ใบหน้า และก้นด้วย

อาการ

อาการขนคุดที่ขา

อาการขนคุดที่ขา อาจมีดังนี้

  • มีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายกับอาการขนลุก หรือหนังไก่ แต่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ
  • ผิวบริเวณที่ตุ่มขึ้นแห้งหยาบกว่าผิวบริเวณอื่น
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มขนคุดอาจแย่ลงเมื่อเจอกับสภาพอากาศเย็น ความชื้นต่ำ
  • อาจมีรูขุมขนอักเสบร่วมด้วย
  • บางคนอาจมีอาการคันเล็กน้อย

สาเหตุ

สาเหตุของขนคุดที่ขา

ขนคุดที่ขาเกิดจากรูขุมขนอุดตันเนื่องจากมีเคราติน (Keratin) มากเกินไป เคราตินเป็นเส้นใยโปรตีนที่อยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอก ช่วยปกป้องผิวจากการติดเชื้อ แต่เมื่อมีมากเกินไปอาจทำให้ขนบริเวณขาไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังได้และคุดอยู่ใต้ผิว จนเกิดเป็นตุ่มนูน หรือตุ่มขนคุด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ขนคุดที่ขา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีเคราตินสะสมมากกว่าปกติ จนพัฒนานำไปสู่การเกิดขนคุดที่ขาอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าอาจมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ภาวะผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังแห้ง และอาจเกิดจากการกำจัดขนด้วยการแว็กซ์ขนหรือโกนขน เป็นต้น นอกจากนี้ การมีขนเส้นหนาหรือหยิก ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดขนคุดได้เช่นกัน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการขนคุดที่ขา

เนื่องจากภาวะขนคุดไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง จึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัย แต่หากผู้ป่วยต้องการ คุณหมออาจตรวจดูผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบด้วยตาเท่านั้น ไม่มีการทดสอบด้วยเทคนิคทางการแพทย์ใด ๆ เพิ่มเติม และอาจแนะนำให้ใช้ครีมหรือวิธีรักษาที่ช่วยให้ขนคุดที่ขาลดลงเร็วขึ้น

การรักษาขนคุดที่ขา

วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยรักษาหรือลดขนคุดที่ขาได้

  • ครีมขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ควรเลือกครีมที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟาไฮดรอกซี หรือเอเอชเอ (Alpha hydroxy acid หรือ AHA) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดแลคติก (Lactic acid) หรือยูเรีย (Urea) เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และทำให้ผิวนุ่มขึ้น แต่ครีมที่มีส่วนประกอบเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับเด็ก เพราะอาจส่งผลให้ผิวแดง รู้สึกแสบ และระคายเคือง
  • ครีมป้องกันการอุดตันรูขุมขน เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เป็นยากลุ่มเรตินอยด์ที่ใช้ทาบริเวณที่ขนคุด เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรอาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ เพราะอาจส่งผลให้ผิวระคายเคือง มีรอยแดง
  • เลเซอร์ การยิงแสงเลเซอร์เพื่อกำจัดขนจะช่วยให้ลดโอกาสในการเกิดขนคุดที่ขาซ้ำได้

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันขนคุดที่ขา

การป้องกันรูขุมขนอุดตัน และบรรเทาอาการขนคุด อาจทำได้ดังนี้

  • อาบน้ำอุ่นหรืออาบน้ำเย็นแทนการอาบน้ำร้อน และจำกัดเวลาอาบน้ำให้ไม่เกินครั้งละ 15 นาที เพื่อป้องกันผิวแห้ง
  • หลังอาบน้ำควรใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้น เช่น มอยส์เจอไรเซอร์
  • ควรทำความสะอาดที่โกนขนก่อนใช้และหลังใช้งาน และควรใช้มีดโกนที่มีความคมพอดี ไม่คมหรือทื่อเกินไป
  • ควรใช้เจลหรือสบู่ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวก่อนเริ่มโกนขน และควรโกนขนตามทิศทางที่ขนขึ้น ไม่โกนย้อนแนวขน
  • ใช้วิธีกำจัดขนที่อาจเสี่ยงเกิดขนคุดที่ขาได้ค่อนข้างน้อย เช่น การใช้ครีมหรือเจลกำจัดขน การเลเซอร์ขน
  • ไม่เกาตุ่มนูนที่ขึ้นบนผิวหนัง หรือขัดผิวแรง ๆ เพราะอาจส่งผลให้บริเวณที่เป็นขนคุดเกิดการเสียดสี และทำให้ผิวหนังอักเสบได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ingrown hairs. https://www.nhs.uk/conditions/ingrown-hairs/. Accessed December 22, 2021

Keratosis pilaris. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/keratosis-pilaris/symptoms-causes/syc-20351149. Accessed December 22, 2021

Keratosis pilaris. https://www.nhs.uk/conditions/keratosis-pilaris/. Accessed December 22, 2021

Keratosis Pilaris. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/keratosis-pilaris. Accessed December 22, 2021

KERATOSIS PILARIS: SIGNS AND SYMPTOMS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/KERATOSIS-PILARIS-SYMPTOMS. Accessed December 22, 2021

KERATOSIS PILARIS: DIAGNOSIS AND TREATMENT. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/KERATOSIS-PILARIS-TREATMENT. Accessed December 22, 2021

KERATOSIS PILARIS: WHO GETS AND CAUSES https://www.aad.org/public/diseases/a-z/keratosis-pilaris-causes. Accessed December 22, 2021

Keratin. https://www.britannica.com/science/keratin. Accessed December 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/08/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแดงหลังการโกนขน คืออะไร และวิธีบรรเทาอาการ

ครีมกำจัดขน ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา