ขนคุดที่แขน เป็นปัญหาผิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนในบริเวณแขน ทำให้เส้นขนไม่สามารถงอกพ้นจากผิวหนังได้ตามปกติ และส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่น ตุ่มแดง อาการคัน แต่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดและไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม การเกาบริเวณที่มีขนคุดอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดแผล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
[embed-health-tool-bmr]
ขนคุดที่แขน คืออะไร
ขนคุดที่แขน คือ ภาวะที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วและเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างของเส้นผม เล็บ และผิวหนัง นอกจากนี้ การโกนขน แว็กซ์ขน และถอนขนที่แขน ก็อาจทำให้ขนที่งอกขึ้นใหม่คดงอ เจริญเติบโตผิดทิศทาง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดขนคุดได้เช่นกัน
อาการขนคุดที่แขน
อาการขนคุดที่แขน อาจสังเกตได้ดังนี้
- ตุ่มเล็ก ๆ คล้ายกับอาการขนลุก ไม่เจ็บ แต่อาจมีอาการแย่ลงเมื่อเจอกับสภาพอากาศเย็น
- ผื่นแดงหรือมีตุ่มอักเสบคล้ายสิว
- อาการคันและแสบผิว
- ผิวบริเวณแขนแห้งและหยาบ
- บริเวณตุ่มขนคุดอาจมีสีเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ
วิธีรักษาขนคุดที่แขน
วิธีรักษาขนคุดที่แขน อาจทำได้ดังนี้
การรักษาด้วยา
- ครีมป้องกันการอุดตันรูขุมขน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มเรตินอยด์ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) โดยทาบริเวณที่มีขนคุด เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงคืออาการระคายเคืองผิวหนัง รอยแดง แสบร้อน และไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาอาจถ่ายทอดสู่ทารกผ่านทางน้ำนมแม่และเป็นอันตรายได้
- ครีมผลัดเซลล์ผิว ควรเลือกครีมที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟาไฮดรอกซี หรือเอเอชเอ (Alpha hydroxy acid หรือ AHA) กรดแลคติก (Lactic acid) หรือยูเรีย (Urea) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว กระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวใหม่ และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผิวนุ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กไม่ควรใช้ยานี้เพราะอาจส่งผลให้รู้สึกแสบ และระคายเคืองผิวหนัง
- ครีมกำจัดขน เช่น ยาอีฟลอร์นิทีน (Eflornithine) ใช้เพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของเส้นขน อาจใช้ควบคู่กับการเลเซอร์ขน
การเลเซอร์ขน
อาจช่วยกำจัดขนคุดที่อยู่ลึกภายในผิว นอกจากนี้ แสงเลเซอร์อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของขนคุดที่แขนได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดและไม่ควรอาบน้ำนานเกินครั้งละ 10 นาที เพื่อป้องกันผิวแห้ง ที่อาจส่งผลให้ผิวระคายเคือง
- หลังอาบน้ำควรใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ น้ำมันมะพร้าว โลชั่น
- หลีกเลี่ยงการเกาหากมีอาการคัน เพราะอาจส่งผลให้ตุ่มขนคุดมีอาการแย่ลง เป็นแผล และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการสครับหรือขัดผิวบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังบาดเจ็บหรือขนคุดอักเสบขึ้นมาได้
สำหรับผู้ที่โกนขน ควรทำความสะอาดใบมีดโกนก่อนใช้และหลังใช้งาน และควรใช้มีดโกนที่ไม่คมมากหรือทื่อจนเกินไป อีกทั้งยังควรทาเจล ครีมโกนหนวด หรือสบู่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวก่อนเริ่มโกนขน และควรไม่โกนย้อนแนวขน หรือโกนจนชิดผิวจนเกินไป หลังโกนขนควรทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและช่วยลดความระคายเคือง